ประวัติ อัครเดช รวมไทยสร้างชาติ สกัดโหวตพิธาเป็นนายกฯรอบสอง

เปิดประวัติ-ทรัพย์สินและหนี้สิน อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตัวตึง พรรครวมไทยสร้างชาติ จอมเตะสกัด ไม่ให้โหวต พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี รอบสอง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากรัฐสภา มีการประชุมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ระเบียบวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายสุทิน คลังแสง เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีผู้รับรอง 291+8 = 299 คน

อย่างไรก็ตามนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา อาศัยข้อบังคับฯ ข้อ 151 ขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยตีความข้อบังคับฯ ข้อ 41 หรือการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นผู้สมควรได้รับเเต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 หรือไม่ มีสมาชิกลงชื่อขออภิปราย 17 คน

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ส่ง 3 ขุนพลลับฝีปาก คือ นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค โดยเฉพาะนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือเป็น “ตัวตึง” ในการอภิปรายในครั้งนี้ เพราะมีวิวาทะกับพรรคก้าวไกลตลอดทั้งเกม

สำหรับนายอัครเดช อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะรับไม่ได้กับระบบอาวุโสภายใน “พรรคเก่าแก่” ก่อนนายอัครเดชจะย้ายมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเดียวกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ

Advertisment

นายอัครเดชสมัยสวมเสื้อพรรคสีฟ้า ตั้งกระทู้ถามนายสุพัฒนพงษ์เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันในสภาหลายต่อหลายครั้ง ถึงขั้นยุให้ฝ่ายค้านใส่ชื่อนายสุพัฒนพงษ์ลงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจและพร้อมจะให้ข้อมูลเด็ดให้ฝ่ายค้านซักฟอก

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองนายอัครเดช เป็นอดีตวิศวกรเทคนิค บริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และเป็นอดีตผู้บริหารธุรกิจของครอบครัวในบริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์ สมรสกับนางจิตปรียา วงษ์พิทักษ์โรจน์ ชื่อสกุลเดิม นุชชม จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย 3 คน ปัจจุบันนางจิตปรียาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายอัครเดช กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีทรัพย์สินรวม 718,378,024.68 บาท มีหนี้สินรวม 55,520,061.05 บาท ดังนี้

ทรัพย์สินของนายอัครเดช 698,614,058.61 บาท ประกอบด้วย 800,000 บาท เงินฝาก 19,265,034.41 บาท ที่ดิน 459 แปลง 623,163,348 บาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใน จ.ราชบุรี โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 7,990,000 บาท ยานพาหนะ รถยนต์ 3 คัน 480,000 บาท สิทธิและสัมปทาน ส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต 40,984,083.20 บาท ทรัพย์สินอื่น 5,931,593 บาท อาทิ อาวุธปืน 5 กระบอก ทองคำและพระเครื่อง 29 ชิ้น นาฬิกา 15 เรือน แหวนเพชร

Advertisment

นายอัครเดชแจ้งว่ามีหนี้สิน 49,598,821.03 บาท โดยรายการที่ 3 เป็นหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมจากนางสมจิตต์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ มารดา จำนวน 49,550,100 รวมถึงเป็นรายการหนี้สินของคู่สมรส 5,736,229 บาท

นายอัครเดชยังแจ้งไว้ในรายละเอียดประกอบรายการสิทธิและสัมปทาน ลำดับที่ 1 โจทย์ คดีช่วยกันแจ้งความอันเป็นเท็จและร่วมกันยักยอก ศาลอุทธรณ์ ศาลแขวง จ.ราชบุรี มูลค่า 327,500 บาท และลำดับ 2 โจทย์ คดี พ.ร.บ.เช็ค สภ.เมืองกาญจนบุรี มูลค่า 112,532 บาท

ทรัพย์สินของคู่สมรส 15,968,348.23 บาท ประกอบด้วย เงินสด 260,000 บาท เงินฝาก 3,020,830.23 บาท ที่ดิน 48 แปลง 6,700,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใน จ.ราชบุรี ยานพาหนะ รถยนต์ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คน 35,000 บาท สิทธิและสัมปทาน ส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต 1,256,875 บาท ทรัพย์สินอื่น 4,695,643 บาท ทองคำ นาฬิกา 4 เรือน กระเป๋า 3 ใบ

ทรัพย์สินของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 3,795,617.84 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 11,569.26 บาท สิทธิและสัมปทาน 3,784,048.58 บาท

สำหรับบริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์โรจน์ อาทิ วงษ์พิทักษ์วัสดุภัณฑ์ และบริษัท วงษ์พิทักษ์ คอนกรีต มิกเซอร์ จำกัด ซึ่งแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีนางสมจิตต์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ มารดานายอัครเดช อยู่ในรายชื่อกรรมการลงชื่อผูกพัน ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท

บริษัท วงษ์พิทักษ์ คอนกรีต มิกเซอร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน ารทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหินอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการเหมืองแร่ โรงงานถลุงแร่ แยกแร่ แปรสภาพแร่
ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ งบกำไรขาดทุน ปี 2564 รายได้รวม 288,955,650 บาท กำไรสุทธิ 3,316,565 บาท ปี 2563 รายได้รวม 228,385,557 บาท กำไรสุทธิ 2,312,524 บาท ปี 2562 รายได้รวม 198,951,089 บาท กำไรสุทธิ 2,309,042 บาท ปี 2561 รายได้รวม 163,006,333 บาท กำไรสุทธิ 2,085,937 บาท ปี 2560 รายได้รวม 150,898,984 บาท กำไรสุทธิ 1,622,030 บาท