วันนอร์เลื่อนประชุมรัฐสภา หลังก้าวไกลขอทบทวนเสนอโหวตพิธาซ้ำ

วันนอร์

สภาวุ่น ยังไม่ถกญัตติมาตรา 272 หลังรังสิมันต์ โรม เสนอญัตติทบทวนโหวตพิธาซ้ำ

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (ยกเลิกมาตรา 272) ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยจะเลื่อนมาแทนวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา ได้เรียกให้สมาชิกรัฐสภาเข้าห้องประชุมในเวลา 10.00 น. ปรากฏว่ามี สว.เข้าร่วมแค่  49 คน จากทั้งหมด 249 คน ทำให้จำนวนผู้เข้าประชุมยังไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 374 คนจึงยังไม่ครบองค์ประชุม โดยประธานรัฐสภาขอให้ที่ประชุมรอสักพัก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สว.จำนวนหนึ่งเตรียมลาประชุมเพื่อให้องค์ประชุมล่ม

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิแสดงความเห็นว่า ขอให้ประธานรัฐสภากำชับให้ สว.เข้าห้องประชุม ช่วยอำนายความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์ เช่น ปากกา เป็นต้น เพราะเห็นบางคนก็มาถึงแล้วแต่ยังไม่เข้าประชุม ทั้งตนยังได้ยินการหารือกันว่าลงชื่อไปแล้วจะถอนชื่อออกได้อย่างไร จึงขอให้ประธานรัฐสภา กำชับว่าเมื่อลงชื่อแล้วจะถอนชื่อออกไม่ได้

“หรือ สว.เขียนชื่อไม่เป็น ผมและเพื่อน สส.พร้อมอำนวยความสะดวก มีปากกาอะไรให้พร้อม เดี๋ยวประชาชนจะงงที่ประชุมรัฐสภามารออะไรกัน รอ สว.นะครับตอนนี้มากันกี่ท่านครับ ว้าย 49 ท่าน” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

กระทั่งเวลา 10.22 น. นายวันมูหะหมัดนอร์ระบุว่า ที่ประชุมสามารถเปิดการประชุมได้แล้ว เพราะมีองค์ประชุมครบ 376 คน

โดยก่อนเข้าสู่การเปิดประชุมได้เปิดให้มีการหารือ โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนมติของสมาชิกรัฐสภาโดยข้อ 151 ในการวินิจฉัย ตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่ไม่ให้โหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯในรอบที่ 2

แต่สมาชิกรัฐสภาได้ลุกขึ้นประท้วง อาทิ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย และนายสมชาย แสวงการ สว.คัดค้านว่า การเสนอญัตติของนายรังสิมันต์ยังทำไม่ได้เพราะประธานยังไม่เปิดประชุม ทำให้นายวันมูหะหมัดนอร์ได้ดำเนินการเข้าสู่การประชุม

จากนั้น เมื่อประธานรัฐสภาเข้าสู่วาระการประชุม และพยายามชี้แจงเรื่องการเลื่อนวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะยังมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลได้นัดพิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคม จึงจำเป็นต้องเลื่อนไปก่อน

นายรังสิมันต์

นายรังสิมันต์จึงเสนอญัตติใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีผู้รับรองครบถ้วนตามข้อบังคับ แต่ประธานรัฐสภาพยายามชี้แจงว่า เรื่องทบทวนการใช้ข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 151 เพื่อตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ถือเป็นเด็ดขาด และได้ไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ขอให้รอตรงนั้น หากกลับมาพิจารณาจะกระทบกับรัฐสภาได้

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงว่าญัตติของนายรังสิมันต์เสนอญัตติด้วยวาจา และมีผู้รับรองถูกต้องควรจะให้เดินหน้าต่อ

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สว. ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาไม่รับญัตติ ขอให้พิจารณาทบทวนมติของสมาชิกรัฐสภาของนายรังสิมันต์ ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการถกเถียงการเสนอญัตติของนายรังสิมันต์ว่าถูกต้องหรือไม่

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.อภิปรายตอนหนึ่งว่า ประธานรัฐสภาใช้ข้อบังคับถูกต้องแล้ว เมื่อบทบัญญัติข้อบังคับ 151 เด็ดขาดถึงที่สุดก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เราพยายามเลี่ยง ตีความให้เดินต่อไปได้ จึงไม่เห็นด้วยที่จะเสนอญัตติซ้ำเข้ามาอีก พอซ้ำก็คือขัดกับข้อที่ 41 ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเกิดความเสียหายแก่สภา เพราะไม่ยอมรับมติกัน ไม่จบ

การเสนอชื่อซ้ำมาพิจารณาในเสนอคราวนี้ทำไม่ได้ แต่จะทำได้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อยกเว้นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แล้วนำรายชื่อเดิมมาพิจารณาต่อได้ แต่ต้องพิจารณาชื่อนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมืองครบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ก่อน จนหาใครเป็นนายกฯไม่ได้ แล้วจึงเข้าสู่บทยกเว้น เอาชื่อเดิมมาพิจารณาได้ หรือเอาคนนอกบัญชีมาพิจารณาก็ได้

นายวันมูหะหมัดนอร์กล่าวว่า อยากให้สภาตัดสินตามข้อบังคับและกฎหมาย เพราะถ้าเราทำผิดแล้วเกิดความสงสัยเดี๋ยวก็ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญอีก เราจะไปทำไม อาจไม่ถูกใจสมาชิกหลายท่าน แต่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับให้ถูกใจทุกคน ไม่มี ตนพยายามให้ทุกฝ่ายให้ความคิดเห็น แต่เราต้องมองข้างหน้า และมองคนอื่นด้วย

“ถ้าให้มองแต่ตัวเรา ถูกใจเรา แม้ผมเองเป็นประธาน ทุกครั้งที่ลงมติไม่ได้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมาย” ประธานรัฐสภากล่าว

ด้านนายรังสิมันต์กล่าวว่า เป็นญัตติที่ตนเสนอเป็นการทบทวน ไม่เคยมีใครยื่นญัตตินี้มาก่อน และตนยื่นญัตติตามข้อบังคับ มีการรับรองถูกต้อง ดังนั้น หน้าที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาตามญัตติ ส่วนจะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ หรือผลจะเด็ดขาดหรือไม่เด็ดขาดอย่างไร ก็ไปอภิปราย รัฐสภาสามารถยืนยันมติที่เคยทำไปแล้วได้

ประชุมรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม หลังจากสภาอภิปรายเรื่องนี้ต่อเนื่องกว่า 1 ชั่วโมง นายวันมูหะหมัดนอร์ได้สั่งเลื่อนการประชุมโดยกล่าวว่า “ผมได้รับฟังความคิดเห็นจากหลาย ๆ ฝ่ายแล้วขอใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ 22 ขอเลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันนี้ออกไปก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ประธานรัฐสภาเลื่อนการประชุมออกไป จึงยังไม่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (ยกเลิกมาตรา 272) ของพรรคก้าวไกล