วิวาทะ ศึกยึดประชาธิปัตย์ ชวน-ไม่ทรยศคนภาคใต้ เดชอิศม์-ไม่รับมรดกขัดแย้ง

วิวาทะ ศึกยึดพรรคประชาธิปัตย์ ชวน Vs เดชอิศม์  “ผมไม่ทรยศคนภาคใต้”-“เราไม่ควรรับมรดกขัดแย้ง”

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวร่วมกับ สส.พรรคประชาธิปัตย์ 20 คน ขาดแต่เพียงนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ นายสรรเพชร บุญญามณี สส.สงขลา ลูกชายนายนิพนธ์ บุญญามณี และนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง ลูกชายนายนริศ ขำนุรักษ์ ถึงเหตุผลสวนมติ สส. ลงมติเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา

เดชอิศม์ : พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 2 รอบ และมีเจตนาให้องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ทำให้เสียหายต่อพรรค เสียหายต่อพี่น้ององค์ประชุมที่มาจากทั่วประเทศ และเกิดความเสียหายจากค่าใช้จ่ายของพรรค ต้องใช้ครั้งละ 3-4 ล้านบาท

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เราประชุมพรรคประชาธิปัตย์เพื่อพิจารณาวาระการประชุมในที่ 22 สิงหาคม ในญัตติสำคัญการเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันนั้นในที่ประชุมมีความเห็นออกเป็น 3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ไม่เห็นชอบ พวกเราก็ซักถามว่า สาเหตุที่ไม่เห็นชอบคืออะไร ส่วนใหญ่เนื่องจากความขัดแย้งในอดีต ความโกรธในอดีต

“น้อง ๆ สส.ใหม่ก็โต้แย้งว่า เราเป็น สส.ใหม่เกือบทั้งหมด เราอยากให้แยกหน้าที่ สส.ปัจจุบัน กับความแค้น ความโกรธ ความเกลียดออกจากกัน ถ้าเราแยกออกจากกันไม่ได้มันจะเกิดอคติตลอดไป ก็มีผู้ใหญ่บางคนวอร์กเอาต์ออกจากห้องประชุมไป”

สอง มีความเห็นว่า เห็นชอบ เนื่องจากประเทศถึงทางตัน ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหายาเสพติดขยายวงกว้าง เกิดสุญญากาศทางการเมืองนานไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนแน่นอน

สาม จำนวนมากเห็นควรว่า งดออกเสียง เพราะสมัยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประชาธิปัตย์ลงมติงดออกเสียง เพราะกังวลว่า การแก้ไขมาตรา 112

หลังจากนั้น ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่านลุกขึ้นพูดบอกว่าอย่าโหวตกันเลย ความจริงมันเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ถ้าวันนั้นไม่มีการโหวต พวกเราก็เลยว่า ไม่รู้ว่าเป็นมติหรือไม่เป็นมติกันแน่ และก็ปิดประชุมไป

เราไม่ควรรับมรดกความขัดแย้ง

วันที่ 22 สิงหาคม ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี พวกเราก็มานั่งอีกห้องหนึ่ง นั่งฟังการอภิปรายเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของนายเศรษฐา ฟังในภาพรวมแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์รับได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องหน้าที่ที่จะปฏิบัติในฐานะนายกรัฐมนตรี

เราก็นั่งคุยกันไป ทานข้าวกันไป สส.ประชาธิปัตย์ ประมาณ 20 คน สุดท้ายก็มีการโหวต เราก็นั่งดู 3 คนแรกที่โหวต หนึ่ง ท่านจุรินทน์โหวตงดออกเสียง สอง ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ไม่เห็นชอบ สาม ท่านชวน หลีกภัย ไม่เห็นชอบ นี่คือ 3 เสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ลงคะแนนก็ไม่เหมือนกันแล้ว

พวกเราก็นั่งคุยกันต่อว่า นี่คือมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติพรรคจะมีข้อยกเว้นไม่ได้ มติเป็นทางใดต้องเป็นทางนั้น พวกเราก็มีความเห็นว่า ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่มติ เราก็เลยมาแยกกัน ระหว่าง หนึ่ง พรรค สอง ประเทศชาติและประชาชน เราควรเลือกข้างไหน จริง ๆ เราเอาทั้งสองข้าง แต่ถ้าจำเป็นต้องเลือก พวกเราก็ลงความเห็นตรงกันว่า เราเอาชาติและประชาชนไว้ก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้พรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงได้ 250 เสียง สอง เรามองว่าเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส.เคยขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่านเนวิน ชิดชอบ กลุ่มเพื่อเนวินเคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคแล้วมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คือท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เขายังสมานฉันท์กันได้เลย

“แล้วพวกเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่เกือบทั้งหมด เราไม่เคยใส่เสื้อเหลือ ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรที่จะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่า ๆ”

ทุกคนมีความเห็นให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราควรสนับสนุนเขา (นายเศรษฐา) เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตัวเรายังเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือเหตุผลที่เราโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน

“ณ วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบ เต็มตัว ตัว สส.ประชาธิปัตย์ และศักดิ์ศรีของประชาธิปัตย์ เราไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรืออยากไปเป็นรัฐบาล”

หลักประชาธิปัตย์ในการร่วมรัฐบาลก็คือ หนึ่ง พรรคเพื่อไทยต้องเทียบเชิญมาก่อน สอง ต้องประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารชุดรักษาการ กับ สส. และลงมติ มติว่าอย่างไร ทุกคนต้องปฏิบัติตามมตินั้น

“โทษในการที่ไปพบใคร พวกผมเป็น สส.รุ่นใหม่ เราพบทุกพรรค เรามีเพื่อนทุกพรรค เพราะเราแยกระหว่างหน้าที่ กับความรัก ความผูกพัน หน้าที่กับความโกรธแค้น ชิงชังในอดีต เราแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด”

หนึ่ง ถ้าเราเอาหน้าที่ สส.ไปผูกพันกับความรัก เราก็ลำเอียง ถ้าเอาหน้าที่ของ สส.ไปยึดโยงกับความเคียดแค้น ความโกรธชัง เราก็เกิดอคติ เราสนิทกับทุกพรรค

“ถ้าการไปพบทุกพรรคมีความผิด ผมก็น่าจะโดนประหารชีวิตไปนานแล้ว เพราะเป็นความผิดมาก เพราะผมสนิทกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง แต่พอเข้าในสภาก็อีกหน้าที่หนึ่ง”

การขับออกจากพรรค ต้องใช้เสียง สส.ร่วมกับกรรมการบริหารพรรคมีมติสามในสี่ ดูไปดูมาส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้หมดแล้ว ไม่รู้ใครจะขับใครกันแน่ เสียงส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ทั้งหมด

เรายินดีพูดคุย บนความเป็นไปได้ พวกเราไม่อยากพกมรดกความแค้นในอดีตแล้วมาให้พวกเรารับต่อ ถ้าเป็นนโยบายใหม่สิ่งที่ดี ๆ เราพร้อมรับต่อ

เรามาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน ตัวพวกผมพร้อมที่จะออกจาก สส.พรุ่งนี้ มะรืนนี้ยังได้เลย ถ้าเรารู้สึกว่า เราทรยศประชาชน ไม่ว่าคนใต้หรือคนทั้งประเทศนี้ เราไม่เคยคิดทรยศ เราซื่อสัตย์ เราทำงานเพื่อประชาชน เรามาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่แคร์ที่สุดคือ ชาติและประชาชน

พรรคยังไม่ถึงกับแตกหัก ยังมีเวลา แต่ต้องลดทิฐิ มารับฟัง เพราะทุกคนมาจากประชาชนทั้งนั้น กว่าจะฝ่าฟันมาได้เป็นเรื่องยากมาก

ผมไม่ทรยศคนภาคใต้

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคำร้องขอจากสื่อมวลชนขอสัมภาษณ์ว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 14.30 น. เป็นการประชุมพรรค ผมตีรถมาจากจังหวัดตรังตั้งแต่ตี 4 เพื่อให้ทันการประชุม เพราะผมไม่อยากให้ขัดกับมติพรรค เพราะคุณเดชอิศม์เขาพูดไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าใครขัดมติพรรคให้ลาออก ผมไม่อยากลาออก

ในที่ประชุมบรรยากาศดี คนแรกที่แจ้งคือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา ท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านก็บอกที่ประชุมว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้น ต้องลงมติไม่รับ ก็เลยมาพูดกันว่า วิธีลงมติไม่รับจะใช้วิธีงดออกเสียง หรือวิธีอะไร

มีบางท่านพูดเหมือนกันว่า อยากเป็นรัฐบาล ท่านจุรินทร์บอกในที่ประชุมว่า ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีรัฐบาลก็ต้องมีฝ่ายค้าน เมื่อเราไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน

“ผมก็ขออนุญาตในที่ประชุมว่า ผมใช้คำว่า สำหรับผม ส่วนตัวนะ คนอื่นไม่เกี่ยว ผมขออนุญาตในที่ประชุมว่า ผมขอลงมติไม่รับ ที่ประชุมไม่ขัดข้อง”

ผมก็สู้กับพรรคการเมืองเหล่านี้ ตั้งแต่ไทยรักไทย เพื่อไทยมา ในเรื่องที่เลือกปฏิบัติต่อภาคใต้กับจังหวัดที่ไม่เลือกเขา ดังที่เราได้ยินว่า พัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกไทยรักไทยก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง และมีปัญหานโยบายที่กระทบกับภาคใต้หลายเรื่อง เช่น ปัญหาชายแดน

เราสู้เรื่องนี้และขอร้องประชาชาชนว่า อย่าเลือกพรรคนี้นะ เขาแกล้งเรา เขาเลือกปฏิบัติกับเรา ย้อนกลับไปดู พรรคเพื่อไทยไม่ได้ สส.ภาคใต้เลย 3 สมัย ขณะที่ได้จากภาคอื่นท่วมท้วน เป็นผลส่วนหนึ่งจากที่เราหาเสียงไว้

“ดังนั้น โดยส่วนตัวผม ผมถือว่าเราทำขนาดนี้ แล้วประชาชนได้กรุณาปฏิบัติตามที่เราแนะนำ ถ้าเราจะทำอะไรก็ตาม อันเป็นการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากพรรคนี้ เท่ากับเราทรยศต่อคนภาคใต้ ผมไม่ต้องการทรยศคนภาคใต้”

นายจุรินทร์เสนอว่า ไม่ลงมติได้ไหม หมายถึงไม่ลงมติว่า งดออกเสียง หรือลงมติด้วยวิธีอื่น แต่ที่ประชุมบอกว่า ลงมติ ในที่สุดสำหรับคนอื่นก็ให้งดออกเสียง นี่คือที่มา

เรื่องการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จบไปแล้ว แต่การประชุมเรื่องอื่นยังไม่จบ ผมจึงขออนุญาตออกจากห้องประชุมไปก่อน เพื่อไปงานศพที่วัดธาตุทอง คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ เนื่องจากเป็นลูกคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ สส.รุ่นเดียวกับผม ปี 2512

วันนั้นไม่มีใครวอล์กเอาต์ นี่คือข้อเท็จจริง มติวันนั้นคือ มติที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ เป็นคนเสนอว่า ไม่รับ ไม่ใช่คนอื่นเสนอ แต่วิธีไม่รับจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง

“ตอนที่เราสู้กับเพื่อไทย สมัยคุณทักษิณ ท่านเดชอิศม์อยู่ในพรรคนั้น (ไทยรักไทย) นะ ตอนที่เราเรียกร้องความเป็นธรรมว่า พรรคเหล่านั้นกลั่นแกล้งภาคใต้ ความคิดมันก็ต่างกันตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อาฆาต เคียดแค้น แต่เรียกร้องความเป็นธรรมให้เขา”