หมอมิ้งปัดฝุ่น คณะกรรมการกลั่นกรอง เศรษฐา นั่งหัวโต๊ะ

หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ นายกฯน้อยป้ายแดง ปัดฝุ่นคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้า ครม. ยุครัฐบาลทักษิณ เศรษฐา นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ เน้นทำงานเชิงยุทธศาสตร์ รวดเร็ว-มีประสิทธิภาพ-หวังผล ปฏิบัติได้

วันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ว่า หลักการคือจะใช้วิธีเดิม คือ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องไหนเข้าสภา เรื่องไหนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำงานให้เร็ว กลุ่มไหนเรื่องเกี่ยวกับใคร ก็อาจจะมีคณะทำงานเฉพาะได้

“ส่วนเรื่องที่จะเข้าประชุม ครม.จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง เพราะเป็นวิธีการทำงานที่เร็ว แทนที่จะมานั่งประชุมให้เสียเวลา เมื่อเรามีคณะกรรมการกลั่นกรองก็กลั่นกรองให้เรียบร้อย ซึ่งโดยหลักจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน”

“เราเป็น ครม.ที่ทำเรื่องเศรษฐกิจทุกวัน ไม่จำเป็นต้องมี ครม.เศรษฐกิจ โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจก็รวมถึงสังคม แม้เป็นเรื่องเศรษฐกิจก็รวมความมั่นคง เพราะฉะนั้นในแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานแบบยุทธศาสตร์ สิ่งที่จะทำต้องทำให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หวังผลและนำไปปฏิบัติได้เร็ว” นพ.พรหมินทร์กล่าว

รายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการกลั่นกรอง เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 แต่งตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 172/2547 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี จำนวน 8 คณะ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในแต่ละด้าน ประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ประกอบด้วย

Advertisment

คณะที่ 1 ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

คณะที่ 2 ฝ่ายคมนาคมและแรงงาน

คณะที่ 3 ฝ่ายความสงบเรียบร้อยและกระบวนการยุติธรรม

คณะที่ 4 ฝ่ายการศึกษาและฝ่ายการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Advertisment

คณะที่ 5 ฝ่ายสังคม วิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะที่ 6 ฝ่ายพลังงาน อุตสาหกรรมและการพาณิชย์

คณะที่ 7 ฝ่ายการต่างประเทศ วัฒนธรรม ท่องเที่ยวและกีฬา

คณะที่ 8 ฝ่ายกฎหมาย ระบบราชการและประชาสัมพันธ์