ปิดฉาก สปท.สภาไม้ประดับ ลุ้น คสช.ตั้งคณะปฏิรูป เฟส 3 ใน 15 วัน

2 ปี 9 เดือนที่แม่น้ำสายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่ปฏิรูป แต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาไม้ประดับ เพราะเวลาร่วม 3 ปี ไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ผลงานที่อาจนับได้ว่าเป็นชิ้นงานโบแดง คือต้นกำเนิด “คำถามพ่วง” ที่แนบท้ายในการออกเสียงประชามติ ก่อนส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติ ดอกผลของคำถามพ่วง กลายเป็นที่มาของการให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง

เป็นจุดเริ่มต้นของเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ว่า เปิดช่องให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศต่ออีกสมัย

ขณะที่ผลงานปฏิรูปการเมือง-การสร้างความปรองดอง อันเป็นหมุดหลักหมุดหนึ่งของ คสช.ที่เข้ามายึดอำนาจ ทว่า ก็เป็นแค่ข้อเสนอลอย ๆ จากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นประธาน

เช่น เสนอให้แก้ปัญหาโดยใช้นโยบายรัฐ เช่น คดีความผิดเล็กน้อย เจตนาไม่ร้ายแรง อาจไม่ดำเนินคดีต่อ เช่น การใช้มาตรา 44 การถอนฟ้อง

และการแก้ปัญหาโดยตัวกฎหมาย จะใช้วิธีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.รอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินคดีหรือฟังคำพิพากษา ใช้กับคดีที่มีความรุนแรงมาก กรณีแกนนำบุกยึดสถานที่ราชการ

ต่อมา สปท.การเมืองเสนอให้ตั้งโรงเรียนการเมือง เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการเมืองใหม่

บังเกิดเป็นผลปฎิรูป ระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยกรรมาธิการผ่าน 4 แผนหลัก 1 การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน ทุกเพศทุกวัย เพื่อให้คนที่มีความเห็นต่างอยู่ร่วมกัน แผนหลักที่ 2 การสร้างนักการเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

แผนหลักที่ 3 การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน แผนหลักที่ 4 การบริหารการขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน

แต่ข้อเสนอข้างต้นยังไม่ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ

กลับกันในมุม “ทินพันธุ์ นาคะตะ” ประธาน สปท.สุดภูมิใจก็คือ การผลักดันให้ศาลยุติธรรม มีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อตุลาคมปี 2559 จะมีนักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” ขึ้นเขียงเป็นรายแรก คือ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์

กระนั้น สปท.ก็มีผลงานที่นำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ในการ “ปิดฉาก” ภารกิจ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติให้ สปท.หมดวาระทันทีที่ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 2560 มีผลบังคับใช้

ทินพันธุ์ กล่าวว่า “งานปฏิรูปที่ สปท.ส่งให้รัฐบาลแล้วมี จำนวน 188 เรื่อง ส่วนที่รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อกลไกปฏิรูปประเทศ นับถึงเดือน ต.ค. 2559 จำนวน 183 ฉบับ และกำลังเร่งผลักดันอีก 104 ฉบับ ที่สำคัญในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คสช.ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เกิดคfeวามมั่นคงทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้”

อย่างไรก็ตาม สภาปฏิรูปในนาม สปท. ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “สภาการเมือง” มากกว่า “สภาปฏิรูป”

ด้านหนึ่ง คสช.ได้ดึงนักการเมือง จำนวนหนึ่งมาเป็น สปท.อีกด้านหนึ่ง ได้แต่งตั้ง “ขาประจำ” การเมือง ที่มาจาก “ลากตั้ง” เข้ามาสวมหัวโขนเป็นนักปฏิรูป

ตั้งแต่วันแรกที่มีคำสั่งแต่งตั้ง สปท. แทน สปช.จึงมีบุคคลส่วนหนึ่งประเภท “ขาประจำ” จาก สปช.มาเป็น สปท.ถึง 61 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่ติดยศทหารและตำรวจ

และแน่นอนว่า หลังจาก สปท.หมดวาระไปใน 2 ปี 9 เดือน ก็จะมีคณะกรรมการปฏิรูปชุดที่ 3 ขึ้นมา เป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ในชื่อว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” 11 ด้าน

ทั้งนี้ ในมาตรา 14 ของกฎหมายดังกล่าว ระบุว่าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งแต่ละคณะจะประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการหนึ่งคน กรรมการปฏิรูปจำนวนไม่เกิน 14 คน

และค่อนข้างแน่นอนว่า อาจมีอดีต สปช.ที่เปลี่ยนหน้ากากตัวเองมาเป็น สปท. กำลังจะสวมหัวโขนหัวใหม่ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ซึ่งจะประกาศชื่อภายใน 15 วันข้างหน้า