ครบ 10 ปี รัฐประหาร 57 เปิดจุดยืน เพื่อไทย – ก้าวไกล ว่าอย่างไร ?

ครบ 10 ปี รัฐประหาร 57 เปิดจุดยืน เพื่อไทย – ก้าวไกล ว่าอย่างไร?

ครบ 10 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทำให้ ฉากหน้าการเมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ถูกรัฐประหารในวันนั้น กลับมาเป็นรัฐบาล (อีกครั้ง) ในเวลานี้

พรรคภูมิใจไทย เมื่อ 10 ปี ก่อนมีสถานะเป็น “ฝ่ายค้าน” กลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 71 เสียงที่แกนนำรัฐบาลขาดไม่ได้

พรรคประชาธิปัตย์ ตัวละครสำคัญเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน แต่วันนี้ พรรคที่ทำหน้าที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกล

กลุ่ม นปช. วันนี้แตกละเอียด กลุ่ม กปปส.ยังพัวพันอยู่กับการสู้คดี แต่แกนนำบางรายอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล – รวมไทยสร้างชาติ

Advertisment

มีพรรคเกิดใหม่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ – พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เกิดจากร่มเงารัฐประหาร กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล บนเงื่อนไขพิเศษ สลายขั้วการเมือง

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านมา 10 ปี พรรคการเมืองแสดงจุดยืนอย่างไร ควรบันทึกไว้ ดังนี้

รัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ ว่า 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 อำนาจอธิปไตยของคนไทยดับสิ้นลง จากคณะรัฐประหารที่ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลที่มาจากความไว้วางใจของพี่น้องประชาชน

Advertisment

การกระทำการรัฐประหาร คือ การกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายประชาธิปไตย ผลักประเทศให้เดินถอยหลังไปสู่ความถดถอยภายใต้อำนาจเผด็จการ สิ่งที่เราสูญเสียไปคือ ‘โอกาสของประเทศ” ทั้งที่สามารถประเมินมูลค่าได้ และอีกนานัปการที่ประเมินมูลค่าไม่ได้

พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เราปฏิเสธการรัฐประหาร ไม่ยอมรับสารตั้งต้นที่อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร และปฏิเสธการนิรโทษกรรมต่อการรัฐประหารในทุกกรณี ศาลและองค์กรรัฐอื่น ๆ ต้องยกเลิกบรรทัดฐานที่ว่า การรัฐประหารโดยใช้กำลังอาวุธสำเร็จ เป็นรัฏฐาธิปัตย์

เรายืนยันแนวคิดให้มีการตรากฎหมายต่อต้านการรัฐประหารขึ้น โดยห้ามมิให้ศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยืนยันในแนวคิดว่า ความผิดในการรัฐประหารไม่มีอายุความ โดยให้ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า การรัฐประหารคืออาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรม ต่อระบอบประชาธิปไตย เรายึดมั่นในหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เราจะร่วมกัน ต่อต้านการรัฐประหาร การรัฐประหารจะต้องหมดไปจากประเทศไทย

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ผ่านมา จะมีข้ออ้างเสมอมาว่ารัฐบาลประชาธิปไตยบริหารประเทศ ล้มเหลว อ้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การยึดอำนาจโดยใช้กำลังอาวุธ แต่ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่การรัฐประหารนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มีแต่นำไปสู่ความตกต่ำ ถดถอย และล้าหลังดังที่เห็นกันอยู่ตลอดมา

พรรคเพื่อไทยในฐานะสถาบันการเมือง ในฐานะแกนนำรัฐบาลของพี่น้องประชาชน เราจะบริหารราชการแผ่นตินอย่างดีที่สุด เราจะร่วมมือกันกับคนไทยผู้รักประชาธิปไตย ไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

ยิ่งลักษณ์ อยากมี รธน.โดยประชาชน

ด้าน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลที่ถูกรัฐประหารเมื่อ 10 ปีก่อน ระบุว่า นับเป็นเวลา 10 ปีแล้วจากวันที่เกิดการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนมาถึงวันนี้เป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ดิฉันเริ่มมีความหวังค่ะ ก็คือการที่เห็นประเทศกลับคืนสู่หนทางแห่งประชาธิปไตย โดยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนไปพร้อม ๆ กัน รอความหวังที่จะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงค่ะ

รูปภาพ

ก้าวไกล : ระบอบประยุทธ์ ยังอยู่

พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า 10 ปี รัฐประหาร 2557 ประยุทธ์ออกแล้ว ระบอบประยุทธ์ยังอยู่ ทั้งนี้ ผ่านมาแล้ว 10 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จุดกำเนิดของระบอบประยุทธ์ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าประเทศไทย ‘เปลี่ยน’ ไปจริง ๆ

นั่นเพราะ “ระบอบประยุทธ์” มีความหมายกว้างกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ที่แวดล้อมคณะรัฐประหารและร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกันและกัน ผ่านการออกแบบโครงสร้างและกลไกรัฐให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง เป็นโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทัดทานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เปิดช่องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และเปิดช่องให้ทุนใหญ่เข้ากุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือตลาด

การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แม้ทำให้ประยุทธ์หายหน้าไปจากการเมือง ประวิตรหายไปจากตำแหน่งในรัฐบาล แต่ “ระบอบประยุทธ์” ที่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ไม่ได้หายไปไหน และผลพวงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะยังคงอยู่กับเรา ตราบที่เราไม่เดินหน้ารื้อมรดก คสช. ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 3 วาระที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง ผ่านการยื่นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในการทำให้สำเร็จ

วาระ 1 = จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100%

ปัญหา : ในแง่การเมือง มรดกสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ผ่านการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น สว. ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ) ให้สามารถอยู่เหนือหรือแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทางออก : จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อพาสังคมไทยออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยความเชื่อว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะมีเนื้อหาที่พร้อมทำให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และพร้อมปิดช่องไม่ให้ศาลรับรองการทำรัฐประหาร และไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67 :

(1) สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

(2) ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช.ฯ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งจากคณะรัฐประหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (เป็นร่างกฎหมายด้านการเงิน – รอนายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาในสภา)

วาระ 2 = ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน รื้อสภากลาโหม-ศาลทหาร

ปัญหา : การที่วันนี้สื่อมวลชนยังมีคำถามว่า ทหารจะรัฐประหารหรือไม่ ตอกย้ำให้เห็นชัดว่ากองทัพ ณ ปัจจุบันยังคงมีอำนาจหลายส่วนอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน สามารถแทรกแซงการเมือง หรือแม้แต่กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจรักษาความมั่นคง เป็น ‘ขุนศึก’ ที่ถือครองที่ดินและธุรกิจโดยขาดการตรวจสอบจากประชาชน

ทางออก : ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง และทำให้กองทัพเป็นกองทัพยุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการดำเนินการและการใช้งบประมาณ และได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากประชาชน

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67 :

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม เพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างอำนาจ-ที่มาของสภากลาโหม และกระบวนการแต่งตั้งนายพล (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

(2) เตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลทหาร เพื่อป้องกันกระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน
วาระ 3 = ทลายทุนผูกขาด ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ปัญหา : ทุนใหญ่ได้ขยายอำนาจและส่วนแบ่งตลาดในทุกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของปากท้องประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ไฟฟ้า ผ่านสายสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายคณะรัฐประหาร กองทัพ ระบบราชการ และผ่านกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาด
ทางออก : ทลายทุนผูกขาด จากเดิมที่ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยผู้เล่นไม่กี่ราย ต้องเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67 :

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่เพียงปรารถนาที่จะเห็น แต่เราได้ใช้ทุกกลไกและวิถีทางที่มีอยู่ แม้ในฐานะฝ่ายค้านปัจจุบัน ในการผลักดันลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ออกจากสังคมไทย

การต่อต้านและลบล้างผลพวงรัฐประหารย่อมไม่อาจเป็นจริงได้ผ่านเพียงคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ผ่านการกระทำ
เราหวังว่ารัฐบาลจะร่วมกันผลักดัน “ทุกวาระ” ข้างต้นร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นและตั้งมั่นในสังคมไทย ทำให้รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย