Surviving Geopolitics เปิดเกมรุกอาเซียน สร้างอำนาจต่อรอง

politic

เนื่องในโอกาสหนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 กองบรรณาธิการมติชน จึงจัดเวทีมติชนฟอรั่ม “Thailand 2024 : Surviving Geopolitics” เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ และหนทางปรับตัว ภายใต้ปัจจัย “ภูมิรัฐศาสตร์” ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนคนไทย ทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เบื้องต้น “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดเวทีในหัวข้อ “Thailand 2024 : Surviving Geopolitics” ว่า วันนี้มีโจทย์น่ากลัว 3 ชุด คือ สงคราม, โรคระบาด และอากาศเปลี่ยน แต่สำหรับ “Geopolitics” คือ “Global Risk” หมายถึงความเสี่ยงระดับโลก

รัฐไทยต้องปรับตัวให้เร็ว

สงครามยูเครนจากปี 2022 ตอนนี้ 2024 ซึ่งไม่จบในปีนี้ เป็นสงครามใหญ่ที่เราไม่เคยเห็น กำลังคล้ายสงครามกลางเมืองของสเปนเมื่อปี 1936 หรือไม่ เพราะเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนการมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ในยุโรป ฉะนั้น จากไตรมาส 3 ของปี 2024 จนถึงสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2025 สงครามยูเครนคงยังเห็นอยู่ แต่จะขยายตัวหรือไม่ สงครามในฉนวนกาซาจะจบ แต่ไม่รู้จะจบอย่างไร อิสราเอลชนะหรือไม่ หรือเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่

“ดังนั้น โจทย์ยูเครน, โจทย์ฉนวนกาซา, โจทย์ทะเลแดง โจทย์ช่องแคบไต้หวันที่จีนเปิดการซ้อมรบใหญ่ รวมถึงโจทย์เกาหลีเหนือที่ทดลองการยิงขีปนาวุธจะจบอย่างไร โจทย์ทะเลจีนใต้ซึ่งเปราะบางมาก ถ้าสงครามไม่ได้เกิดในทะเลจีนใต้ จะเกิดสงครามที่ช่องแคบไต้หวันไหม สุดท้ายภาวนาเยอะ ๆ สงครามโลกครั้งที่ 3 ผมคิดว่าไม่นาน โดยเฉพาะหลังปีใหม่ กระแสในสังคมไทยจะพูดถึงมากขึ้น คำตอบไม่ต่างจากคนในยุโรป คือ ความกลัว สะท้อนจากราคาทองคือคำยืนยันความกลัวสงคราม”

“ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวต่อว่า แล้วประเทศไทยจะตั้งรับอย่างไร ? คำตอบตรงนี้ไม่ค่อยเห็น ภาครัฐบนพื้นฐานระบบรัฐราชการ กระแสการขับเคลื่อนไม่เร็วเหมือนกระแสโลก ดังนั้น เมื่อรัฐปรับตัวได้ช้า การเตรียมตัวรับมือกับปัญหามีขีดจำกัด เข็นครกขึ้นภูเขา จึงอยากเห็นผู้นำของไทยมีความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ เพราะหากรัฐไทยไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในรัฐอำนาจใหญ่ได้

Advertisment

4 ลู่ 2 แกน เกมเมียนมา

“รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “ผ่าเมียนมาทะลุไทย และอาเซียน วิเคราะห์จุดเดือดสมรภูมิรบภูมิรัฐศาสตร์” ว่า ประเทศไทยควรต้องมีวิสัยทัศน์ภูมิรัฐศาสตร์เป็นของตังเอง ด้วยกลยุทธ์ 4 ลู่ 2 แกน คือ

ลู่ 1 การดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐเมียนมาตรงพื้นที่ใจกลางประเทศ โดยรัฐบาลไทยควรเทน้ำหนักความสัมพันธ์ไปที่รัฐบาลทหารเหมือนเดิมก่อน

ลู่ 2 การดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐเมียนมา ตรงพื้นที่ชายแดน โดยให้ไทยเพิ่มช่องทางติดต่อร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ และรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น

ลู่ 3 การติดต่อร่วมมือกับรัฐมหาอำนาจ และองค์กรระดับโลก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหประชาชาติ

Advertisment

ลู่ 4 การติดต่อร่วมมือในเวทีอาเซียน รัฐไทยควรกระชับสัมพันธ์ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียน แต่ควรรักษาสัมพันธ์กับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ส่วนแกน 1 หรือ แกนใน คือ การกำหนดพื้นที่เพื่อปกป้องอธิปไตยแห่งรัฐตามรูปทรงแผนที่ขวานทองของประเทศไทย ซึ่งให้ไทยวางกำลังทหารตามแนวชายแดนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการละเมิดอธิปไตย และล้ำเส้นเขตแดน

แกน 2 หรือ แกนนอก หมายถึง ให้ไทยกำหนดอาณาบริเวณใหม่ที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตประเทศไทย โดยให้มองออกไปข้างหน้าตามพื้นที่ หรือเส้นทางสำคัญในเมียนมา เพื่อให้ไทยมีแผนเชิงรุกสำหรับปกป้องผลประโยชน์ของไทยล่วงหน้า หรือมีบทบาทรุกเข้าไปในพื้นที่ส่วนหน้ามากขึ้น

“บางพื้นที่ที่น่าจะเป็นเขตผลประโยชน์ที่เราควรเข้าไปมากขึ้น เราควรมีกลยุทธ์เชิงรุกบ้าง ไม่ใช่เพียงตั้งรับ เช่น การเข้าไปลงทุนในพื้นที่ การปราบปรามยาเสพติด การเข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่รอบ ๆ แทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับปัญหา ตั้งอยู่ในดินแดนขวานทองเพียงอย่างเดียว”

สร้างอำนาจต่อรอง-วิ่งมาคุยกับเรา

“รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอ “ไทยในสมรภูมิใหม่” ตอนหนึ่งว่า จะให้ประเทศไทยเป็นกลาง จริง ๆ การเป็นกลางทำยากมาก เพราะหลาย ๆ ประเทศในอาเซียนเลือกข้าง แม้จะบอกว่าไทยเป็นไผ่ลู่ลม แต่ลมอาจมาจากทุกทิศทุกทางก็ได้

“ถ้าประเทศไทยจะมีบทบาทนำในอาเซียนได้ ต้องสร้างอำนาจต่อรอง ทำให้เราไม่ต้องเลือกข้าง แต่ให้ทุก ๆ ข้างต้องวิ่งมาคุยกับเรา เราจะต้องพูดถึงหลักการ ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมภายใน แต่ต้องยอมรับกติกาสากล เล่นบทบาทที่ Proactive มากขึ้น กลับมามีบทบาทนำในอาเซียน ผ่านมาในหลายเดือน ผู้นำเรายังเยือนประเทศในอาเซียนไม่ครบ”

“รศ.ดร.ปิติ” สรุปว่า ไทยในสมรภูมิใหม่ จะต้อง 1.ปรับปรุงภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะต้อง digitalization และ Financial Sustainability 2.พัฒนาคนของเราในเรื่องคุณภาพ รวมถึงเปิดตลาดแรงงานมากขึ้น และ 3.กลับมาเป็นรัฐที่มีหลักการในเวทีประเทศเพื่อนบ้าน

สร้าง Agenda อย่าแค่ตั้งรับ

“นายคุณากร วณิชย์วิรุฬห์” นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลกและภูมิรัฐศาสตร์ เปิดข้อมูล “ลึกแต่ไม่ลับ ข้างหลังภาพแผนที่ Geopolitics” โดยกล่าวว่า การจัดการตัวเองในท่ามกลางการเผชิญอำนาจ 2-3 ขั้ว เซต Agenda ได้ไหม อย่าเป็นแต่เพียงผู้รับ รอว่าอะไรจะเกิดขึ้นแล้วแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกเรื่องคือการจัดการกับชุดความรู้ ในด้านหนึ่งภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ภูมิศาสตร์อาจพูดถึงสิ่งที่จับต้องได้ เป็นภูมิศาสตร์กายภาพ

“ส่วนรัฐศาสตร์เป็นจินตนาการ การสร้างสรรค์ของสังคมมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เชื่อในสิ่งที่ตนเองจินตนาการขึ้น ดังนั้น ถ้าเชื่อมั่นในตัวละครทางภูมิรัฐศาสตร์ การสร้าง Agenda ในชุดภูมิรัฐศาสตร์ เราจะสร้างเป็นรัฐไทยเดิม สามารถทำได้ไม่น้อย”