หลายพรรคการเมืองอวดแนวทาง อัพเกรดการศึกษาไทย

เวลา 14.00 น. วันที่ 2 ธันวาคม สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) นำเสนอสถานการณ์การศึกษาไทย “3 ปัญหาเก่า และ 2 ความท้าทายใหม่ โจทย์ที่ระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญ”

นายสมเกียรติกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาการศึกษามาก ปัญหาที่ 1 คือคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ เราจะพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กไทยที่ไปสอบวัดความสามารถทักษะการคิดวิเคราะห์ ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยร้ายแรงที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการวัดเช่นนี้แล้วพบว่ากำลังแย่ลง ปัญหาที่ 2 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีความแตกต่างของนักเรียนที่อยู่ในชนบท จะมีทักษะด้านต่างๆต่ำกว่านักเรียนในเมือง ปัญหาที่ 3 คือประสิทธิภาพการศึกษาที่ต่ำลง ทั้งสองปัญหาข้างต้นไม่ได้เกิดจากการที่เรามีงบประมาณไม่เพียงพอ งบประมาณด้านการศึกษาของไทย 5 แสนล้านบาทนั้นไม่ได้ต่ำกว่าจีดีพี กลับสูงขึ้น 2 เท่าครึ่ง ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แต่ผลการศึกษากลับมีลักษณะที่ตกต่ำลง

“ท่ามกลาง 3 ปัญหาเก่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ 2 ความท้าทายใหม่ คือ 1.เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ทุกอาชีพมีความเสี่ยงต่อการตกงาน 2.เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ในอนาคตต้องทำงานหลายช่วง ไม่ได้ทำงานเดียวตลอดชีวิต มีชีวิตการเรียน เดินทางแสวงหา ลองทำงาน และเปลี่ยนงาน พักผ่อน เรียนรู้ใหม่ทำงานใหม่ กว่าจะเกษียณ เหล่านี้ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเจออีกไม่นาน”นายสมเกียรติกล่าว

นายพะโยม ชิณวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน คณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาปลายทางอยู่ที่ห้องเรียน แต่จริงๆแล้วว่าแตกหักอยู่ที่ตัวผู้เรียน สิ่งที่ท้าทายการศึกษามีเยอะมาก เราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาแต่ เราดูกลุ่มเป้าหมายต่างๆในแต่ละช่วงวัยเรียน

แต่จริงๆแล้วขณะนี้ทุกคนกำลังใฝ่หาการศึกษานอกระบบ ถ้าดูกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม เช่นคนที่อยู่ในสถานประกอบการ 22-25 ล้านคน เกษตรกรที่ทำการเกษตร น่าสนใจว่า เกษตรกรถือมือถือที่ทันสมัยที่สุดและค้นหาสิ่งที่เขาอยากทำ อยากปลูกหาความรู้ นี่ต่างหากที่จะเป็นสิ่งในอนาคต เราจะร่วมมือเรื่องการศึกษายังไง ทำยังไงให้ประชาชนมีโอกาสทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้เหมือนเราเน้นไปเรื่องระบบ และโอกาสทางการศึกษาจึงไม่ถูกกลุ่มเป้าหมาย และเรื่องคุณภาพก็ทราบดีว่าอยู่ที่จุดไหน เราจะมีอะไรที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ทุกคนเข้าถึงและมีคุณภาพ สิ่งที่สำคัญมากคือการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งน่าสนใจว่าขณะนี้เรามีนวัตกรรมเกิดขึ้นในโรงเรียน ในชุมชน ในสังคมมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้นวัตกรรมเหล่านั้นมาสร้างความต่อเนื่องและเชื่อมโยง และแชร์กันได้ จึงเสนอแนวคิดว่าเราน่าจะมีสถาบันอะไรสักอย่าง เช่นศูนย์ หรือ thailand sharing university เพื่อตอบโจทย์ตรงนี้

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และมีปัญหามาอย่างยาวนานจากพ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ซึ่งเราต้องการให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข แต่การศึกษาของไทยกลับเน้นแต่ในห้องเรียน ทั้งที่ควรจะเชื่อมโยงท้องถิ่นเอาความรู้ที่มีอยู่นำมาใช้ ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต แต่ปัญหายังคงเป็นแบบเดิม 20 ปี ที่ผ่านมามีนายกรัฐมนตรี 21 คน ทำให้ระบบการศึกษาไม่เกิดความต่อเนื่อง รัฐมนตรีต้องเร่งทำงาน ตนจึงอยากเสนอให้พรรคใหญ่ๆทำให้กระทรวงการศึกษาปลอดการเมือง ขอให้ไม่ว่าการเมืองเปลี่ยนอย่างไรจะไม่กระทบต่อรัฐมนตรี ให้มีรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง ถ้าทุกคนเห็นความสำคัญ และยกกระทรวงนี้ออกมาจากเค้กที่แบ่งกัน เราจะได้นโยบายการศึกษาที่ต่อเนื่อง รัฐมนตรีจะได้สบายใจ และข้าราชการจะเชื่อมั่นว่าจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่วนความจริงที่ว่าไม่มีใครอยากเป็นรัฐมนตรีศึกษานั้น ตนเชื่อว่าในปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้น และการกระจายอำนาจทางการศึกษาต้องทำไปพร้อมงบประมาณและความเป็นอิสระของท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและโปร่งใส ซึ่งทุกฝ่ายต้องมีความพร้อมไม่อย่างนั้นจะล้มเหลว

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองไม่เห็นความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งในยุคหนึ่งเราต้องการเปลี่ยนเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม และเราก็ไม่ได้พัฒนาการศึกษาควบคู่กันไป ดังนั้นวันนี้คำว่าการปฏิรูปการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ตนมองว่าถึงเวลาที่ต้องกำหนดการพัฒนาคนต้องเป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง ตนเชื่อว่า คนการเมืองเห็นปัญหาและพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะยังมีความท้าทายใหม่จากเทคโนโลยีที่เข้ามาปั่นป่วน ถ้าเราตามไม่ทันจะถูกกลืนและตกยุคมากขึ้น แต่ถ้าเราทันจะเปลี่ยนได้เร็ว อย่างไรก็ตามปัจจุบันเราปิดกั้นเด็กรุ่นใหม่ด้วยระเบียบข้อจำกัดมากเกินไป เราจึงต้องทำให้เด็กไทยพร้อมเป็นพลเมืองของโลกที่พร้อมใช้เทคโนโลยีในอนาคต ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชน ว่า เราไม่จำเป็นต้องตัดหลักสูตรการศึกษาให้เหมือนเสื้อโหล เราต้องกระจายหลักสูตรให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อสร้างคน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า หัวใจของการกระจายอำนาจการศึกษาคือการเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการกำหนดการศึกษาของลูก โดยมีท้องถิ่นอำนวยความสะดวกและส่งงบประมาณลงไปที่โรงเรียนโดยตรง พร้อมเปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่ทั้งหมด แต่เมื่อระบบเป็นแบบนี้ทำให้ไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันเด็กสอบก็เยอะ เรียนก็แยะ ไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน วันนี้เด็กมีความสนใจที่หลากหลายแต่ถูกจำกัด ซึ่งไม่ตอบโจทย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หากมองภาพใหญ่ โจทย์ คือ เตรียมคนไทยให้พร้อมสู้ ศตวรรษที่ 21 ในอนาคตเราต้องแย่งชิงกับประเทศอื่นๆอีก เพราะอาชีพจะถูกดิสรัปไปเยอะ จึงต้องดูทั้งแรงงาน การศึกษา และวิจัยไปพร้อมกัน ถ้าเราจะยกระดับคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ ต้องมี 4 คำ คือ continuity commitment corroboration และ coherent ที่เชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อตอบโจทย์การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 มองนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เอาบุคคลไว้ทีหลัง

ทางทีดีอาร์ไอพยายามผลักดันเนื่องนวัตกรรมทางการศึกษา นี่คือการเตรียมพลังให้ชุมชน สิ่งที่อาจารย์สมเกียรติเสนอมาดีมาก แต่เราต้องไม่ฝากความหวังไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการอีกต่อไป แต่จะต้องเปลี่ยนจากเดิมไปสู่ชุมชน เราต้องออกแบบที่จะให้ชุมชนขับเคลื่อน ดูแลการศึกษาแทนกระทรวง โดยใช้คอนเซ็ปต์เดิมที่ห่างหายมานาน คือ บ้าน วัด โรงเรียน จะทำอย่างไรให้ที่เหล่านี้เป็นกำลังหลัก เพราะการศึกษาคือ living working learning ไปพร้อมกัน ดังนั้น จึงต้อง 1.ปฏิรูปงบประมาณ 2. ปฏิรูปการบริหารจัดการ และ 3.ปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์สิ่งที่ อ.สมเกียรติ ได้ตั้งโจทย์เอาไว้

แต่สิ่งที่เราขาดหายไปคือเรื่องของอนาคต ถ้าเรามัวแต่มองว่าจะเปลี่ยนจากล่างขึ้นบนอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องมองภาพการศึกษาจากปัจจุบันไปอนาคตด้วย สิ่งที่เราต้องมีคือนวัตกรรม สุดท้ายก็จบที่เรื่องการศึกษา กระทรวงการศึกษาเป็นกระทรวงหลักแห่งหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญคือเรื่องนี้ต้องไม่ใช่เรื่องการเมือง

นายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการในมุมมองของทุกพรรคการเมืองถือว่ามีความสำคัญมาก แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยมาก ซึ่งส่งผลในทางลบต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งนี้ในช่วง4-5ปี ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ทดลองความคิดของโรงเรียนแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด โดยสลับเอาเป้าหมายของผลการปฏิรูปที่จะให้เห็นขึ้นนำ ด้วยการปฏิรูปจากข้างล่าง เน้นให้เด็กรู้และพูดภาษาอังกฤษเป็น ต้องสื่อสารได้ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากระดับล่างไปบน ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่า สำหรับนิยามการกระจายอำนาจทางการศึกษา คือบทบาทของกระทรวงต้องน้อยลง กระทรวงต้องเล็กลง

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองรู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความสำคัญมากแค่ไหน แต่ที่ทุกวันนี้กระทรวงศึกษามีปัญหาเพราะกระทรวงศึกษามีอำนาจมากเกินไป ดังนั้นควรกระจายอำนาจทางการศึกษา

นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีอีกหนึ่งความท้าทาย ที่ยังไม่เห็นจากรายการนี้ แล้วคิดว่าอยากจะนำเสนอ คือ เรื่องวัฒนธรรม ถ้าเราอยากเปลี่ยนการศึกษา เปลี่ยนคน แต่วัฒนธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การจัดงบประมาณใหม่ การใส่เนื้อหาที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ก็จะมีคำถามว่าวัฒนธรรมอะไรที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ตัวเรามองห้องเรียน ครู และนักเรียนว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงการศึกษา ห้องเรียนของจุ๊ยเป็นทีมเวิร์ก โลกอนาคตที่ต้องการนวัตกรรมและโลกในอนาคตที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆต้องสร้างสิ่งที่มีประสิทธิภาพ ทำงานคนเดียวไม่ได้อีกแล้ว เรื่องการศึกษาก็ต้องทำงานร่วมกันจากคนหลายกลุ่ม สิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่สุดของทีมที่จะประสบความสำเร็จคือทีมที่มีความปลอดภัยทางความรู้สึกและความคิด เราอยากได้เด็กที่คิดวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าไม่ได้พื้นที่ที่ปลอดภัยก็ไม่มีทางที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะใส่ความรู้ เอไอ ไม่ว่าจะใส่ความรู้วิชาการมากมายเท่าไหร่ เราก็จะวนกลับมาสู่ปัญหาเดิมที่ว่าเด็กเรารู้แต่คิดไม่เป็น

 

ที่มา มติชนออนไลน์