เลือกแล้วรวย! ด้วยภาษีประชาชน ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล กับวังวนลดแลก-แจกแถม

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นครั้งประวัติศาสตร์ ในรอบ 8 ปี ที่คณะรัฐบาล-รัฐประหารครองอำนาจยาวนานที่สุด หลังจากยุคสงครามเย็น

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชสมัย รัชกาลที่ 10

เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ ในรอบ 18 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับจักรี

น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่นักการเมือง เปลี่ยนขั้ว ย้ายค่ายมากที่สุด ในรอบ 2 ทศวรรษ

เป็นการเลือกตั้ง บนฐานเศรษฐกิจขยายตัวระดับ 4 %

Advertisment

แต่ชาวบ้านระดับฐานราก ทั่วทุกหัวระแหงที่มีสิทธิเลือกตั้งเกือบทั้ง 52 ล้านคน เรียกร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากได้ รัฐบาลที่แก้ปัญหาปากท้อง อยากให้เศรษฐกิจดี มีกิน รายได้เพิ่ม”

ขณะที่นักธุรกิจ ทั้งระดับยักษ์ใหญ่ บริษัทข้ามชาติ และเหล่าสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี แทบทุกบริษัทบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังต้อง wait and see

การลงทุนใหม่ โครงการใหญ่ จึงตั้งเป้าหมาย ปักหมุดลงทุนไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่เห็นเร่งรีบ-อลหม่าน คือโครงการสัมปทาน-ลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ที่รีบเจรจา รวบรัด ให้เซ็นต์สัญญาให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

Advertisment

ในสนามเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคทุกคน จึงปราศรัยเป็นเสียงเดียวกันว่า หัวใจในการชิงชัย ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นรูปธรรม

พรรคการเมืองว่าที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล และว่าที่พรรครอ-ร่วมรัฐบาล จึงครีเอทแคมเปญหาเสียงด้วยคีเวิร์ด “แจก-จ่าย-เพิ่มรายได้”

การอุบัติขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในเค้าร่างของรัฐบาลทหาร ชิงความได้เปรียบล่วงหน้าไปกว่า 5 เดือน ก่อนที่พรรคคู่แข่งจะเริ่มจุดสตาร์ท ในวันรับสมัครเลือกตั้ง

เริ่มด้วยการจัดโปรไฟไหม้ ลด-แลก-แจก-จ่ายไปแสนกว่าล้าน ก่อนการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง

พปชร. ใช้แนวทางแจก “สวัสดิการประชารัฐ” เป็นธงนำในการนำทัพกลับเข้าทำเนียบ

“อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม-หัวหน้าพรรค พปชร. บอกว่า แคมเปญของพรรค ต้องเป็นมาตรการที่ยั่งยืน ไม่ใช่แก้แบบชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ให้ปัญหากลับมาอีก

ด้วยการ ลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา 10% ซึ่งจากฐานข้อมูลกรมสรรพากร ระบุตัวเลขผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดามีมากกว่า 10 ล้านคน

ตามด้วยลดภาษี 5 ปีแรกให้กับเด็กจบปริญญาตรีใหม่ ผู้สำเร็จการศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ในปี 2562 มีสิทธิเลือกตั้งราว 2.17 ล้านคน

และยกเว้นภาษีให้กับพ่อค้าแม่ขายสินค้าออนไลน์เป็นเวลา 2 ปี

แน่นอนว่ามาตรการ “เอ็กซ์ตร้า-ประชานิยม” นั้นต้องใช้เงินภาษีประชาชนปีละมากกว่าแสนล้าน

พรรคเก่าแก่-เก๋าเกมในกติกาการเมือง อย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังยืนยันทฤษฎี “ประกันรายได้” เปิดตัวด้วยนโยบาย “เกิดปั๊บ ได้สิทธิรับเงินแสน” หวังใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐอุดหนุนสูงสุดราว 7 หมื่นล้าน

หลักการคือ “เด็กที่เกิดใหม่ทุกคนจะได้สิทธิ์ เป็นรัฐสวัสดิการ เป็นภาระทางการคลังปีละ 12,000 ล้านบาท ในปีแรก จะมีเด็ก 400,000 กว่าคนได้รับสิทธิ์”

“โฉนดสีฟ้า” คือภาค 2 ของ สปก.4-01 ในการแก้ปัญหาทที่ดินทำกิน เพิ่มบริการเสริม-เติมเงินสดเข้า “บัตรสวัสดิแห่งรัฐ โอนตรงเข้าบัญชี รายละ 800 บาทต่อเดือน”

“ข้าวต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียน ปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ค่าแรงต้องไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปีและเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือน”

เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท ต่อเดือน และจะไปปรับปรุงโครงการเกี่ยวกับการออมเพื่อการชราภาพ

เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาท ต่อเดือน โอนตรงสมุดบัญชีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อปี ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าระบบรายงานสถานะทางการเงินของตัวเองทุกปี

หวังหยุดปัญหาเฉพาะหน้า เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ รายได้ไม่พอ และขีดความสามารถการแข่งขัน ไปสู่บรรทัดสุดท้ายที่เหมือนกันทุกพรรค คือ “ลดความเหลื่อมล้ำ”

พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแชมป์เก่า-เจ้าตำรับประชานิยม ยังคงย้ำตรงจุด ด้วยคีเวิร์ด “เลือกแล้วรวย”

เรียกผู้สมัครสส.ทั่วประเทศติวเข้ม ด้วยลีลา 2 ผู้นำกระเป๋าตุง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ

นายชัชชาติ ย้ำกับผู้สมัคร ว่า “ต้องสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชนผ่านโลกออนไลน์ให้ได้ ต้องทลายระเบียบราชการเพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชน

“เรื่อง ภาษี ซึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยโดนหนัก ต้องเก็บภาษีบริษัทให้สมเหตุสมผล รวมถึงบริษัทข้ามชาติต้องเก็บภาษีให้เหมาะสม หัวใจของเราไม่ใช่เรื่องแจกเงิน เราต้องสร้างและแจกโอกาสให้ประชาชน ทำมาหากินได้พรรคพท.เราพร้อมที่จะซ่อม และสร้างใน 4 ปี ข้างหน้านี้”

คุณหญิงสุดารัตน์ ประกาศว่า “จะปรับเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ 15% ในทุกระดับโดยไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการ”

“ปรับลดภาษีน้ำมัน ต่อมาคือปรับลดภาษีเงินได้ของเกษตรกร เพิ่มยอดหักค่าใช้จ่ายจากหักภาษีได้ 65% เป็น 85% รวมทั้งปรับสิทธิพิเศษนอกอีอีซี 4 รายการ โดยเอสเอ็มอีรายย่อยที่ยอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี”

“เราจะปรับให้เสียภาษีเหมาจ่ายเพียง 1% เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าไปเป็นคู่ค้าของบริษัทใหญ่ๆได้ ยกเว้นภาษีออนไลน์ 2 ปี งดเว้นภาษี 2 ปีให้กับสินค้าและบริการที่มีชื่อว่า “ไทยทำ” และพรรคพท.จะนำสินค้าที่ไทยทำไปขายในต่างประเทศภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกัน และยกเว้นภาษี 2 ปีให้สตาร์ทอัพไทย”

“สำคัญที่สุดคือประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาส จะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่ใช่การแจกเงิน การแจกเงินเป็นระยะสั้น แต่ต้องสร้างโอกาส เช่น โครงการที่เคยทำมาแล้ว 30 บาทรักษาทุกโรค OTOP กองทุนหมู่บ้าน”

พรรคตัวแปรเกรดเอ อย่างภูมิใจไทย (ภท.) ภายใต้กระเป๋าหนักๆของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดบริสุทธ์แคมเปญ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” และทำงานจากที่บ้าน 1 วัน/สัปดาห์

ชู “Buriam Model” บ้านเกิดเนวิน ชิดชอบ เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองท่องเที่ยว

พรรคอนาคตใหม่ ให้เพิ่ม รายการเดียวคือ เงินยังชีพคนชราเป็น 3 เท่า คือ 1,800 บาท/เดือน แต่บอกตัวเลขรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท

ทีเหลือคือการลด 1.ลดจากของเดิมที่มีอยู่ 2. ลดงบกลาโหม 30% 3. กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ 4. ลดสิทธิประโยชน์ BOI 5. ลดสิทธิการลดหย่อนภาษีบางส่วน 6. ลดงบประจำและงบกลาง 7.ขึ้นภาษีที่ดิน

ทุกพรรคปักธงเป็นแกนนำรัฐบาล ทำให้คนไทยรวย ด้วยเงินภาษีประชาชน