ปชป. เหยียบเบรค ค่าแรงพลังประชารัฐ 425 บาท ลั่นจะไม่เอาภาษีประชาชนมาบลัฟคู่แข่ง

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุคส่วนตัว Korn Chatikavanij แจงการใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อให้สอดรับกับชุดนโยบาย แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ของพรรคประชาธิปัตย์

โดยระบุว่า ก่อนอื่นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ผู้มีส่วนได้เสียต่อนโยบายนั่นคือ 1) พี่น้องแรงงานทุกคน ที่เป็นลูกจ้างทั่วประเทศ 2) เจ้าของกิจการไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก SMEs 3) ประชาชนทุกคนที่เสียภาษีมาให้พวกเราใช้พิจารณาใช้งบประมาณผ่านนโยบาย

“ช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายในการหาเสียง หลายพรรคการเมืองออกมาเกทับบลัฟแหลกกันจนประชาชนปวดหัว แต่นี่เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำ เพราะเราทำชุดนโยบาย “แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” เอาไว้เสร็จพร้อมนานแล้วจากการทำนโยบายมาตลอด 5 ปี”

ต่อประเด็น นโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของพรรคพลังประชารัฐ ท่านประยุทธ์ได้พูดไว้เมื่อปีที่แล้วว่า “ปกติควรจะปรับขึ้นเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี” และ “เมื่อจะขึ้นค่าแรงทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการล่มสลาย เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม” (ไทยรัฐ 24 มค. 61) จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ท่านได้ปล่อยให้พรรคของท่านเสนอนโยบายชุดนี้ (ตามภาพ) เพราะนโยบายนี้ขัดกับสิ่งที่รัฐบาลท่านได้ทำมาตลอด

ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมเปรียบเทียบในเนื้อหา “นโยบาย” ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและผู้ประกอบการดังนี้ครับ

1. พปชร.เสนอค่าแรง 425 บาท ผมต้องถามดังๆว่า ได้ถามผู้ประกอบการหรือยังว่าเขาไหวหรือไม่ ประชาธิปัตย์เราประเมินว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันผู้ที่เหนื่อยที่สุดคือ SME เราจึงตัดสินใจ ลดภาษีธุรกิจ SME จาก 20 เป็น 10% พร้อมใช้หลักของนโยบาย #ประกันรายได้ มาใช้กับผู้ใช้แรงงานด้วย โดยบอกว่าเราจะรับภาระ ‘ส่วนต่าง’ ให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่ตํ่ากว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท (ปีละ 120,000บาท) โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ประกอบการ ที่เหลือก็ว่ากันไปตามทักษะของแรงงาน ที่เราจะมีเสริมเรื่อง #คูปองเสริมทักษะ ให้แรงงานไม่ว่าจะวัยใดก็ได้พัฒนาฝีมือ

2. ปริญญาตรี 20,000 ของพลังประชารัฐ นี่ก็ออกมาในแนวนโยบายพรรคเพื่อไทยปี 2554 ซึ่งเราก็วิพากษ์วิจารณ์แต่ครั้งนั้นว่าเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับระบบการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาของไทย วันนี้เรามีเด็กเรียนสายสามัญเพื่อได้ปริญญาตรีอยู่ 70% เรียนสายวิชาชีพเพียง 30% (สัดส่วนนี้สลับกันกับสิงค์โปร์ และประชาธิปัตย์มีเป้าจะปรับสัดส่วนเป็น 50:50) ประชาธิปัตย์เราจึงเสนอให้มีการ #เรียนฟรีปวส เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เด็กไทยเลือกเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น จบแล้วหางานทำได้ ถ้าจะเพิ่มคุณภาพและเงินเดือน ควรเพิ่มให้เด็กอาชีวะเป็นแรงงานมีฝีมือทักษะสูง

3. ส่วนเรื่องการลดภาษีบุคคลธรรมดาของพปชร.บอกว่าจะลด 10% ความหมายของ พปชร.คือจาก 35 เป็น 25 หรือจาก 10 เป็น 0 ซึ่งผมมีสามประเด็นที่กังวล คือ 1) ฐานภาษีที่เล็กอยู่แล้วจะหดลงไปอีกมาก เพราะจะมีผู้เสียภาษีเงินได้เหลือเพียง 1 ล้านคนจากประมาณ 4 ล้านคนในปัจจุบัน 2) รัฐจะสูญเสียรายได้กว่าครึ่งของที่ได้อยู่คือกว่า 170,000 ล้านบาท ซึ่งเนื่องจากไม่ปรากฎว่า พปชร. มีนโยบายหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่น นั่นหมายความว่าเราต้องกู้เพิ่มเติมในจำนวนนั้น 3) ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากนโยบายนี้คือผู้มีรายได้สูงสุดในประเทศ

โดยนายกรณ์ย้ำว่า ประชาธิปัตย์เสนอลดภาษีให้ผู้เฉพาะผู้มีรายได้ปานกลางแต่คงอัตราเดิมกับผู้มีรายได้สูง หากท่านชอบใคร ขอให้พิจารณาที่ตัวชุด “นโยบาย” เป็นหลัก