บันได 5 ขั้น ฝ่ายค้านเผด็จศึก “บิ๊กตู่”

ขบวน 7 พรรคฝ่ายค้าน มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ร่วมขบวนโดยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ รวมเสียง 246 เสียง

เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีจำนวนมือ ส.ส.จนเกือบท่วมนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล ในรอบ 2 ทศวรรษ มีเสียง ส.ส.น้อยกว่าฟากรัฐบาลผสม 19 พรรค แค่ 7 เสียง 7 พรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ผสมความแค้นทางการเมือง ในฐานะพรรคที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 มีถึง 136 เสียง แต่กลับได้เป็นฝ่ายค้าน นัดรวมตัวพันธมิตรวางโรดแมปฝ่ายค้านเขย่ารัฐบาลตั้งแต่ยกแรก

มือกฎหมายมหาชนระดับเทพ 2 คน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” กับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” จาก 2 พรคใหญ่ เพื่อไทย-อนาคตใหม่ กำหนดเกมสู้ในฝ่ายนิติบัญญัติ ถอดสูตรเป็นบันได 5 ขั้น

บันไดขั้นแรก เร่งอุณหภูมิในสภาตั้งแต่แถลงนโยบาย โดยเซตทีม “ซักฟอก” รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เหมือนที่เคย ถล่ม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มาแล้วในวันอภิปรายโหวตนายกฯ ที่หอบ “มาตรฐานจริยธรรม” ที่เพิ่งออกมาในยุค คสช. ย้อนกลับมาเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์

โดยเฉพาะข้อหาที่ขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาจากการยึดอำนาจ-ฉีกรัฐธรรมนูญ

ในขั้นการแถลงนโยบาย เพื่อไทย-พรรคร่วมฝ่ายค้าน นัดหารือถึงกรอบการ “ซักฟอก” หยิบรัฐธรรมนูญมาตรา 162 มาตั้งเป็นกรอบ ตั้งเป้าซักฟอกชำแหละโครงการเมกะโปรเจ็กต์ฝ่ายรัฐบาล ทุกเม็ด-ทุกดอก

แม้ว่าขณะนี้การฟอร์มรัฐบาลยังไม่จบ แต่ 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมซ้อมคิวอภิปรายกันแล้ว มีการตั้งวิปฝ่ายค้าน 30 ชีวิต ตั้งคณะทำงานย่อยรอลับมีด

“ปิยบุตร” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศชัดถ้อยชัดคำ ส่งสัญญาณไปถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ว่า

“รัฐบาลชุดนี้จะมีฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง และจะอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน พล.อ.ประยุทธ์จะได้บริหารประเทศแบบที่มีฝ่ายค้านจริง ๆ จัง ๆ เสียที และจะได้รู้ว่าการบริหารประเทศในเกมประชาธิปไตยเขาทำกันอย่างไร” 

เพราะนอกจากเกมอภิปรายในสภาที่จะซักซ้อมกันทุกสัปดาห์ 7 พรรคฝ่ายค้านจ่อใช้กลไกสภา ยื่นคำร้องการเมืองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผ่าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่ให้ ส.ส.จำนวน 50 คน เข้าชื่อ หากเห็นว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง” 

บันไดขั้นสอง ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสูตรคำนวณ ส.ส.ของ กกต.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสูตรดังกล่าวทำให้เกิดพรรคจิ๋ว 10 พรรค รวมอยู่ในซีกรัฐบาล

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เห็นว่า “ไม่ต้องไปพึ่งองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานอื่น ๆ เพราะเรามี ส.ส.อยู่ในมือ สามารถเข้าชื่อและยื่นต่อประธานสภา ซึ่งจะต้องส่งเรื่องไปตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาว่า การที่ กกต.ประกาศ 10 พรรคเล็กไม่มีคุณสมบัติเป็น ส.ส.แต่แรก”

บันไดขั้นสาม ให้วินิจฉัยการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาชอบด้วยกฎหมาย-รัฐธรรมนูญ กรณีการเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน อันขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสองหรือไม่

บันไดขั้นสี่ ยื่นที่มาของ ส.ว. 250 คน ชอบธรรมหรือไม่ เพราะบางคนที่เป็น ส.ว.อยู่ตอนนี้ ดันมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

บันไดขั้นห้า สร้างแนวร่วม-มวลชนนอกสภา ประเด็นหลักคือผลักดันวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งใน-นอกสภา เบื้องต้นวางแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร ฉายภาพว่า “เดินหน้าในสภาและในส่วนภาคสังคมและภาคประชาชนจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งร่วมกันรณรงค์ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ไม่อาจใช้เสียงในสภาอย่างเดียว ต้องทำให้ทั้งสังคมเข้าใจ เกิดเป็นฉันทามติร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญไปต่อไม่ได้”

ทั้ง 2 ขั้น เดินเกมคู่ขนานใน-นอกสภาอย่างเข้มข้น เป็นทฤษฎี dual track

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการเพื่อไทย สรุปบันได 5 ขั้นว่า “ถ้าเขา (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) ทำดีเขาก็รอด ถ้าทำไม่ดีเขาก็มีปัญหา”