ครม.บิ๊กตู่ 2/1 ไฟเขียว “สินเชื่อด่วน-พักหนี้ แก้ภัยแล้ง”

ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ 6 มาตรการเร่งด่วน 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ 2.การบูรณาการร่วมกัน 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ สนับสนุนเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ

3.กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปรับแผนการระบายน้ำแหล่งน้ำต่างๆ ที่น้อยกว่าร้อยละ 30 4.ปรับลดแผนการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก แบบขั้นบันได 5.การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กรมชลประทาน ร่วมวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 6.กรมและจังหวัดสร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขให้ ส.ส.ในพื้นที่

4 มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ งบกลางฯ ปี 2562 ของงานก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำบริเวณต้นน้ำให้ทันต่อการรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 และงานขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ 2.มอบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปรับแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล และซ่อมแซมบำรุงรักษาล้างบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ

3.จัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนการปฏิบัติงานตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน 4.บูรณาการกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย เช่น สินเชื่อเงินด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อสร้างอาชีพ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัย พักชำระหนี้เงินต้น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูก และการชดเชยเยียวยา รวมถึงการสร้างอาชีพเสริม

3 มาตรการระยะยาว ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณบูรณาการ เร่งรัดการปฏิบัติงานโครงการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เป็นไปตามแผน 2.มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติบูรณาการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ แผนที่แสดงพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 3.ปรับแผนการเพาะปลูกพืช และปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ