ชวน : ยุครัฐธรรมนูญครึ่งใบ พรรคเราเป็นหนี้บุญคุณประชาธิปไตย 

ชวน หลีกภัย-ปธ.สภาฯ
สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ปิยะ สารสุวรรณ
“ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร-ประธานรัฐสภา ก้าวขึ้นบัลลังก์ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ด้วยข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้-กับภารกิจบูรณะประชาธิปไตย-ฟื้นศรัทธาของนักการเมือง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชวน” ถึงภาระอันใหญ่หลวงของการหวนกลับมาเป็นประธานสภาเป็นสมัยที่ 2

เคารพกติกาล้างภาพสภาป่วน

“ชวน” ยอมรับว่า การหวนกลับมาเป็นประธานสภาอีกคำรบ ควบ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ต้องเผชิญกับปัญหาเป็นสองเท่า

“ไม่มีเลือกตั้งมา 5 ปี ไม่มีตัวแทนประชาชนที่แท้จริงในการนำปัญหามาสู่สภา เวลามีสภาขึ้นมา ทุกคนเหมือนกับน้ำทะลักออกจากเขื่อนโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ”

เมื่อมีสถานะประธานสภา-ประธานรัฐสภา เขาเน้นย้ำกับสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน คือ ตัวสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็น “แบบอย่างของการเคารพกฎหมาย”

“ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การไม่เคารพกฎหมาย สภาต้องเป็นแบบอย่าง ภาพที่ประชาชนรู้สึกว่า ในสภาเป็นสถานที่วุ่นวาย ยุ่งยาก คุมกันไม่ได้ แย่งกันพูด ต้องพยายามลบภาพออกไป”

นอกจากสถานที่ไม่พร้อม-พรรคการเมืองผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ทำให้ “ประมุขนิติบัญญัติ” ต้องรับบทหนัก ในวาระประเทศไทยครบวงรอบ 10 ปี เป็น “เจ้าภาพอาเซียน” ในฐานะประธานผู้นำอาเซียนฝ่ายนิติบัญญัติ

“เมื่อเข้ามา ปัญหาก็กองรอเราอยู่ ปกติงานสภาต้องทำ งานนอกสภาก็ต้องทำ ไม่มีวันหยุดกันเลย แต่ถือว่าเป็นปีที่ดีสำหรับประเทศไทย เหตุการณ์ไม่ปกติ 10 ปีมาครั้งหนึ่ง (ประชุมผู้นำอาเซียน) ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้”

ไม่ประหยัด ประเทศล่มจม

ภาพจำของ “ชวน” ด้วยบุคลิก “สมถะ” ฉากแรกในฐานะประธานสภา จึงเป็นการเข้มงวดในเรื่องการใช้อำนาจ-สิทธิประโยชน์และค่าใช้จ่าย

“ผมทำของผมเองครับ ไม่ได้ทำกับสมาชิก อะไรที่ประหยัดได้ควรประหยัด มันคือเงินภาษีประชาชน ประเทศไทยไม่ใช่เศรษฐี รายจ่ายอะไรที่จำเป็นน้อยก็ไม่ควรจ่าย”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่ง “ไม่ว่าคนหรือรัฐ-ประเทศ ถ้าไม่รู้จักประหยัดก็ล่มจม” เพราะฉะนั้น อะไรที่ประหยัดได้โดยไม่เสียหายต่องานก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่ว่าไม่จ่ายเลยแล้วงานเสียหาย

แม้กระทั่งเรื่องที่ “ส.ส.หน้าเก่า-หน้าใหม่” มองข้ามเพราะ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การจองตั๋วรถไฟ รถประจำทาง เครื่องบินแล้ว ไม่เลื่อน-ยกเลิก เพราะเหตุสุดวิสัย จนมีรายชื่อถูกทวงถามจากสายการบินเอกชน

“ผมยังเตือนหลายคนว่า เผื่อไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว เขาเอาประวัตินี้มาแฉ ขนาดค่าเครื่องบินยังไม่จ่ายเลย (หัวเราะ) จะไปทำงานส่วนรวมได้อย่างไร”

แจงสมญานาม “ประธานสั่งตัด”

ในแวดวงสื่อมวลชน-นักวิเคราะห์การเมืองที่เฝ้าหน้าจอ-เกาะเวทีสภา ในวันเลือก “ประมุขนิติบัญญัติ” ฟันธงว่า “ชวน” คือ ประธานรัฐสภาแบบ “สั่งตัด” หรือมีที่มาก่อนที่สมาชิกจะโหวตเลือกในสภา เพื่อมาปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่

“ไม่นะ จริง ๆ ก็ไม่อยากจะกลับมา ไม่เคยคิดว่าจะได้กลับมา แต่เหมือนนาทีสุดท้ายที่ไม่เกี่ยวกับโควตาพรรค เป็นความประสงค์ดีของหลายฝ่ายว่า ถ้า (เป็น) ผมทุกฝ่ายจะไม่เกี่ยง ไม่มีปัญหา”

“แต่เมื่อมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบในช่วงที่ทำอยู่ จะใช้เวลาทุกวันให้เป็นประโยชน์ ต่อระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยของเราจะพัฒนาไปข้างหน้าด้วยดี”

“ผมเรียนว่า ผมไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะ (หัวเราะ) เป็นหนึ่งในพรรคที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อมาทำหน้าที่นี้ก็หวังว่า จะทำให้การเมืองไทยเราได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น โดยเริ่มจากสภาผู้แทนราษฎร”

ชี้ช่องแก้ รธน.เผด็จการครึ่งใบ

แม้ที่มาของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาจากรัฐสภากึ่งหนึ่งจากการเลือกตั้ง อีกส่วนมาจากการแต่งตั้ง จนถูกวิจารณ์ว่าเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ-เผด็จการครึ่งใบ” ทว่า “ชวน” ยืนยันว่า เป็นนักการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้งเต็มตัว

“ผมถือว่า ผมเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นนักการเมืองที่มาจากระบบการเลือกตั้ง ระบอบประชาธิปไตย โดยเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ และผมก็เป็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

“แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชาพิจารณ์และประกาศใช้ บัดนี้มีการเลือกตั้ง สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำให้ดีที่สุด คือ ยึด ความถูกต้อง ความชอบธรรม”

“ชวน” จึงไม่ลืมพันธสัญญาต่อประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 3.9 ล้านคน-เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

“ควรพยายามหาทางทำความเข้าใจ แต่ต้องไม่คิดเอาตัวเองเป็นหลัก คือ หารือทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่มีประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้กระทั่ง ส.ว. ”

“เราจะปล่อยไว้อย่างนี้ หรือจะปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ให้ประเทศได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้า ปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ให้สามารถแก้ได้ ไม่ใช่แก้ไม่ได้เลย”

รณรงค์ประชาธิปไตยที่แท้

“สิ่งที่จะเป็นไปได้ เราไม่ได้ยื่นคำขาด ยอมรับความคิดทุกฝ่าย หลังจากนั้นค่อยคุยกันว่า จะปรับอะไร ผมไปทำเองไม่ได้ พรรคการเมืองทั้งหลายต้องร่วมกันทำ ไม่ต้องชนกับใคร แต่ให้ความรู้”

“ผมต้องพยายามให้ความรู้กับประชาชน ไม่ใช่ประชาชนไม่มีความรู้ ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยที่ชอบธรรม การเมืองที่สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่โกง ซื้อเสียง ทุจริต”

“ยอมรับเหรอ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ว่า ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ประชาธิปไตยจริง ๆ ไม่ควรเป็นอย่างนี้”

นอกจาก “งานรูทีน” ในการควบคุมการประชุมสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย “ชวน” เตรียมเผยแพร่-รณรงค์ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ทั่วประเทศ

“ส่วนตัวมีเวลาจำกัด ผมนับเวลาถอยหลังแล้ว อายุผมมากแล้ว เป็นผู้แทนฯมา 16 สมัย ไม่ได้ยั่งยืนตลอด เวลาและโอกาสขณะนี้ยังมีสุขภาพที่สามารถทำได้อยู่”

“ต้องพยายามทำให้ได้ รู้ว่ามีอุปสรรคมาก ถ้าไม่คิดจะทำอะไรให้ดี เวลาจะผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มาเป็นประธานทั้งทีต้องคิดทำอะไรที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น”

รัฐธรรมนูญในอุดมคติ-ประชาธิปไตยที่แท้จริงของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญ-วิกฤตการเมืองมากกว่า 50 ปี คือ การเมืองสุจริต-ยุติธรรม และเที่ยงธรรม

“เราต้องการคนดี การสร้างคนดีเป็นสิ่งสำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งกับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในช่วงปลายของพระองค์ท่าน ไม่ใช่สร้างคนเก่งอย่างเดียว คนเก่งแล้วโกงบ้านเมืองเสียหายมากนะ”

“การเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมต่างหากถือเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ฟื้นศรัทธานักการเมือง

ในยุครัฐบาล-คสช. ที่นักการเมืองถูก”สร้างภาพ” ให้เป็น “ผู้ร้าย” จนครั้งหนึ่งเกิดวิวาทะระหว่าง “ชวน” กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ในเรื่องนักการเมืองดี-เลว “ชวน” จึงตั้งมั่นที่จะใช้โอกาสได้ทำหน้าที่ประธานสภา-ตัวแทนนักการเมือง ฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองให้ได้มากที่สุด

“ทำให้สภาของเราเป็นที่ยอมรับมากที่สุด มากเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยถือว่าเราเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ”

ภาพที่เห็นคือ การแสดงออกของ “ชวน” ถึง “ความเป็นกลาง” บนเวทีสภา จนหลุดออกไปจากพรรคต้นสังกัด ต่างไปจากประธานสภาในอดีตที่ไม่ขาดจากการเป็นพรรคการเมือง

“เป็นเรื่องธรรมดาครับ คนมาอยู่ในฐานะประธาน ไม่ใช่พรรคผม (ประชาธิปัตย์) อย่างเดียวหรอก ส่วนใหญ่นะ ยกเว้นบางคน มาเพื่อเขามอบหมายให้มาดูแลผลประโยชน์ก็มี”

“โดยทั่วไปประธานเมื่อมานั่งแล้วก็จะต้องรู้ตัวว่าจะวางตัวอย่างไร อยู่ที่จิตสำนึก ซึ่งธรรมชาติจะกำหนดโดยปริยาย เมื่อคุณเป็นประธาน คุณก็ต้องปฏิบัติอย่างเป็นกลาง”

“แต่ไม่ได้หลุด (ออกจากพรรค) หรอกครับ ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ แต่การปฏิบัติหน้าที่นั้นจะไม่เกี่ยวกับมติพรรค เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ประธาน”

“ชวน” คนเดิม

ถึงแม้ “ชวน” จะระมัดระวังในการทำหน้าที่ประมุขนิติบัญญัติ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ “ฝ่ายค้าน” ก็จ้องจองกฐินฟ้องทั้งอาญา-การเมือง

“เราก็ต้องปฏิบัติไปตามกติกาโดยเคร่งครัด เข้าใจ (ฝ่ายค้าน) แต่ผมก็ต้องยึดกติกาของบ้านเมือง มิฉะนั้น ไม่ว่าทางไหนก็ตาม ถ้าละเมิดกติกา เกรงใจกัน คนอื่นก็จะเล่นงานเรา จึงต้องยึดหลักไว้”

“ผมคนเดิม ใครเห็นผมทำหน้าที่ประธานสภาสมัยแรกจะรู้ว่า ผมเหมือนเดิม พูดน้อย ตัดสินเด็ดขาด เป็นกลาง แน่วแน่ ชัดเจน ไม่เปลี่ยน ไม่มีเรื่องส่วนตัวกับใคร ไม่มีอคติกับผู้ใด มีแต่ความเข้าใจ เห็นใจ แต่ว่าต้องยึดระเบียบเอาไว้ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกย้อนกลับ เพราะเขาไม่ได้จับถูกเรา เขาจับผิด ต้องระมัดระวัง”

อนาคตอภิสิทธิ์-บั้นปลายชวน

บารมีของ “ชวน” จากการเป็นผู้แทนฯ 16 สมัย บนเส้นทางนักการเมืองกว่า “ครึ่งศตวรรษ” จนเป็น “ไอดอล” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ตั้งแต่วันแรกที่ลงเล่นการเมืองถึงวันสุดท้าย ที่เขามอง “อภิสิทธิ์” ว่า ยังมีอนาคตบนเส้นทางการเมืองอยู่

“คุณอภิสิทธิ์ยังอยู่ครับ ท่านเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเล่นการเมือง ไม่ใช่เพราะไม่มีทางไป ไม่ใช่เป็นเพราะว่าอาชีพอื่นไปไม่ได้ เป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเป็นนักการเมือง”

“คุณอภิสิทธิ์เป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเข้ามาเป็นนักการเมืองโดยเฉพาะ พูดง่าย ๆ ว่าเรียนมาเพื่อมาเป็นนักการเมือง เขาไม่ทิ้งหรอกครับ คุณอภิสิทธิ์ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ลาออกจาก ส.ส. เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาไว้”

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเป็นนักการเมือง ไม่ใช่มาเพราะไม่มีงานทำ ไม่ได้มาเพราะเกษียณอายุ ไม่ใช่มาเพราะไม่มีงานอื่น ไม่ได้เข้ามาหาผลประโยชน์ หรือรักษาผลประโยชน์”

“ผมเป็นอะไรได้ก็เพราะระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบอื่น ผมเป็นหนี้บุญคุณระบอบประชาธิปไตย ผมเป็นหนี้บุญคุณประชาชนที่ลงคะแนน แต่มีโอกาสเพราะระบอบประชาธิปไตยให้โอกาส ผมจึงเป็นหนี้บุญคุณ พรรคก็เป็นหนี้บุญคุณ”