“บิ๊กป้อม” ดุลอำนาจใหญ่พลังประชารัฐ โหวต 10 ครั้ง (ต้อง) ชนะ 10 ครั้ง

ยิ่งเข้าใกล้การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ-ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152

ยิ่งเห็นปรากฏการณ์ “กระชับอำนาจ” ทั้งภายในพรรคพลังประชารัฐ และนอกพรรคร่วมรัฐบาลของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ประธานยุทธศาสตร์พรรค”

การเคลื่อนตัวของ “พล.อ.ประวิตร” เกิดเป็น “ก๊กป่ารอยต่อ” เป็น “ดุลอำนาจใหม่” ภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยมี “วิรัช รัตนเศรษฐ” แห่งบ้านใหญ่รัตนเศรษฐ ออกหน้าเป็น “ตัวเชื่อม” กับก๊กต่าง ๆ ภายในพรรค-นอกพรรค

ขณะที่ “สามก๊ก” ได้แก่ ก๊กสามมิตร ก๊กสี่กุมาร และก๊ก กปปส. แม้ถูกลดบทบาท-อิหลักอิเหลื่อในสมการอำนาจ แต่ต้อง “เล่นตามน้ำ” เพื่อหวังพึ่งใบบุญ-บารมีของ พล.อ.ประวิตร

การเข้ามาของ “พล.อ.ประวิตร” เพื่อรวบรวมไพร่พล ทั้งภายในพรรค-ภายนอกพรรค เพื่อฝ่ามรสุมการเปิดอภิปรายของ 7 พรรคฝ่ายค้าน “นักการเมืองอาชีพ” ในสภา

ทั้งในการ “ลงสนามการเมือง” ครั้งแรก “เต็มรูปแบบ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “สมัยสอง” และบนเวทีตามระบอบประชาธิปไตย “สมัยแรก”

นอกจาก “ศึกซักฟอก” โดยไม่มีการลงมติ “พล.อ.ประยุทธ์” เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงต้นเดือนกันยายน ก่อนปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2562 ในวันที่ 18 กันยายน 2562 แล้ว

ยังมีอีก “สองศึกใหญ่” ที่ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลผสม 18 พรรค ในสภาวะของเสถียรภาพรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ”

“ศึกแรก” การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวาระที่ 1 วันที่ 17 ตุลาคม 2562 และวาระที่ 2-3 ต้นเดือนมกราคม 2563

“ศึกที่สอง” การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีรายบุคคล หรือทั้งคณะ โดยอาศัยจำนวน ส.ส. 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

ทุกสมรภูมิมีเป้าหมายเก็บชัยชนะทุกสนามศึกด้วยจำนวนมือ-เสียง “เกินครึ่ง” และ “อยู่ครบเทอม” 4 ปี

ทันทีที่ “พล.อ.ประวิตร” สวมหมวกประธานยุทธศาสตร์พรรค เปิดหน้าเล่นการเมืองเต็มตัว “ภารกิจแรก” คือ การพิสูจน์ฝีมือ-วัดบารมีในการแก้ไขปัญหารัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ”

เอฟเฟ็กต์ของ “พล.อ.ประวิตร” ทันทีที่นั่งหัวโต๊ะยุทธศาสตร์พรรคเปิดตัวเล่นการเมืองเต็มตัว บัญชีรายชื่อกระเพื่อม-สะเทือนไปยัง 5 รัฐมนตรี-แกนนำสามมิตรและ กปปส. ให้ลาออกจาก ส.ส.-ขาลอย เหลือเพียงเก้าอี้รัฐมนตรี

“เสียงไม่ปริ่ม (น้ำ) หรอก ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเสียงเกินครึ่ง อยู่ครบ 4 ปีอยู่แล้ว ส่วน 5 รัฐมนตรีถึงเวลาโหวตสำคัญ ๆ ก็ต้องมาโหวต”

รัฐมนตรี 5 คน ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8

หากลาออก บัญชีรายชื่อจะขยับขึ้นมา 5 อันดับ ได้แก่ นายยุทธนา โพธสุธน ลำดับที่ 21 นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ลำดับที่ 22 นายชวน ชูจันทร์ ลำดับที่ 23 นายภิรมย์ พลวิเศษ ลำดับที่ 24 และนายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ลำดับที่ 25

บทเรียนสำคัญ 2 ครั้งหลังสุดที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาล “เสียรังวัด” แพ้เสียงฝ่ายค้าน กรณีโหวตข้อบังคับประชุมสภา แม้ “คีย์แมน” คนสำคัญของ “ก๊กป่ารอยต่อ”ไม่กังวล เพราะไม่มี “นัยสำคัญ” ส่งผลต่อการอยู่-การไปของรัฐบาล เป็นเรื่องของกรรมาธิการเสียงข้างมาก-ข้างน้อย

การโหวตครั้งสำคัญ-กฎหมายที่ส่งผลชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาล เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้อง “แพ้ไม่ได้”

“ไม่มีแพ้ มีคนที่พร้อมจะเข้ามาช่วยรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะแพ้ชนะกันที่จำนวนเสียงในสภา เสียงรัฐบาลเกินครึ่งอยู่แล้ว เสียงปริ่มน้ำดีกว่าเสียงไม่ถึงครึ่ง ขอให้เกินครึ่ง โหวตเมื่อไหรก็ชนะทุกที ก็จบแล้ว ไม่ห่วง”

ดังนั้น ทันทีที่ “พล.อ.ประวิตร” เข้าพรรค “ผู้มากบารมี” ก็ออกอิทธิฤทธิ์

เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปช.) ยื่นเรื่องต่อกรรมการการเลือกตั้ง ขอ “เลิกทำการเมือง” เตรียมขนข้าวของเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ-ซบตัก พล.อ.ประวิตร ช่วยงานด้านกฎหมาย ภายใน 60 วันทำให้พรรคพลังประชารัฐมีจำนวน ส.ส.เพิ่มอีก 1 เสียง เป็น 117 เสียง ขณะที่ “คะแนนดิบ” ของพรรคพลังประชารัฐ จาก 8,413,413 คะแนน บวกกับพรรคประชาชนปฏิรูป 45,374 คะแนน รวมเป็น 8,458,787 คะแนน

แต่ไม่มีนัยทางการเมืองสำคัญเท่าเสียงของ 4 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส่อ “ย้ายขั้ว-ย้ายข้าง” แม้จะดาหน้าออกมาปฏิเสธ แต่พร้อมจะ “โหวตสวน” มติ 7 พรรคฝ่ายค้าน

4 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ 1.นายสุภดิช อากาศฤกษ์ 2.นายภาสกร เงินเจริญกุล 3.นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ และ 4.นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์

นอกจากการแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแล้ว “พล.อ.ประวิตร” จะเข้าไปประสานรอยร้าว-สร้างความสามัคคีสารพัดมุ้ง ภายในพรรคให้ “รักกัน”

“อยากให้เป็นปึกแผ่น อยากให้เป็นพวกเดียวกันหมด ไม่มีแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า อยากสร้างความสามัคคีภายในพรรค และระหว่างพรรครัฐบาลด้วยกัน”

ขณะที่เก้าอี้รัฐมนตรี-ข้าราชการการเมืองที่มีอยู่จำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการเกลี่ยตำแหน่งให้ครบทั้ง 18 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องจัดสรรให้ครบทั้งหมด รวมถึงเสียงสำรอง-มือนิรนามที่จะออกฤทธิ์ใน “นัดสำคัญ” ของรัฐบาลในสภา

“ใครที่ทำงานได้ก็อยู่ต่อไป ใครทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ดี ก็ต้องปรับเปลี่ยน ทำงานได้ดี ก็อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ทำงานไม่ดี ก็เปลี่ยน เป็นเรื่องปกติ” คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ตบท้าย

“พล.อ.ประวิตร” จึงตั้งเป้าหมายไว้สูงสุด “โหวต 10 ครั้ง ต้องชนะ 10 ครั้ง” เพราะเดิมพันด้วยอายุขัยของรัฐบาลครบ 4 ปี