เกม (ไม่แก้) รธน. 250 ส.ว.ทหารโหวตชี้ขาด

การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช่หนังสั้น-จบกันแค่สั้น ๆ แต่จะเป็นหนังม้วนยาวประหนึ่งซีรีส์

แม้ 7 พรรคฝ่ายค้าน “ตีปี๊บ” จัดเวทีสัมมนาชำแหละ “ข้อเสีย” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทุกสัปดาห์ ใช้เวทีนอกสภาสร้างแรงกดดันไปถึงสภา

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมตกซีน เพราะเป็นพรรคที่ยื่นเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ แลกกับการเข้าร่วมรัฐบาลปริ่มน้ำ เตรียมผลักดันตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ใช้โอกาสนี้กระโดดรับลูก “เห็นด้วย” โดยพลัน หวังลดแรงกดดันทั้งใน-นอกสภา พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเหมือนกัน เพียงแต่…ขอเป็นสมัยประชุมหน้า 1 พ.ย. 62-28 ก.พ. 63 ลากยาวไปอีกทอด

แต่เสียงที่จะชี้วัดสำคัญคือเสียงของวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ใช่ ส.ส. เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องฝ่าด่านถึง 3 ด่าน
ที่ต้องใช้เสียงของสภาผู้แทนราษฎร บวกวุฒิสภา ในการลงมติแก้ไข ยังไม่นับขั้นตอน “ประชามติ” ของประชาชน เป็นไฟต์บังคับ

1.การแก้ไขเริ่มจาก 2 ช่องทาง คือ คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป)

2.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา (ส.ส.+ส.ว.) โดยต้องได้เสียงสนับสนุนมากกว่า 375 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมด 750 เสียง โดยต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง จากจำนวนเสียงของ ส.ว.ทั้งหมด

3.ในโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา 376 เสียง

โดยในจํานวนนี้ต้องมี ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองในสภาเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ 84 เสียงของ ส.ว.

ทว่า ถ้อยแถลงของ “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร” รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวถึงปมแก้รัฐธรรมนูญสั้น ๆ
แต่ได้ใจความว่า ถ้ามีประเด็นแก้ไขก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ทราบว่า และรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจากประชาชน ดังนั้น เมื่อกฎหมายผ่านการทำประชามติ ก็ต้องไปถามประชาชนว่า ต้องการหรือไม่

เสียงของ ส.ว. 250 เสียง จึงมีความสำคัญ ชี้ขาดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผนวกกับอารมณ์ของสังคมในช่วงเวลานั้น