ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านประลองกำลัง จับมืองูเห่า ชี้ขาด พ.ร.บ.งบประมาณ’63

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระแรก-ขั้นรับหลักการ ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2562 เดิมพันด้วยการอยู่-การไปของรัฐบาล “ไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก”

ทว่า อิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ทำให้การลงมติเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยในแต่ละครั้งของรัฐบาลคาบลูกคาบดอกระหว่างความเป็นกับความตาย

เสียงที่เป็นปัญหาอย่างน้อย 18 เสียงของ ส.ส.ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่ยังมี “ข้อกังขา” ว่า “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” สามารถลงมติร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’63 ได้หรือไม่

สำหรับ 16 ส.ส.-รัฐมนตรีจาก 6 พรรคการเมืองที่เป็น “เสียงเจ้าปัญหา” และอาจจะเป็นเกมให้ 7 พรรคฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาเพื่อตีรวนเกมในสภาเพื่อสร้างความได้เปรียบในการคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ก็เป็นได้

จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 7 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ 2.นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม 3.นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน

พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) มี ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรี 1 คน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรี 1 คน

สถิติการประลองกำลัง-วัดพลังระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านบนเวทีสภามาแล้ว 9 ครั้ง ปรากฏว่า ฝ่ายรัฐบาลชนะแบบหืดขึ้นคอทุกครั้ง บางครั้งต้องใช้ “บริการเสริม”

ครั้งที่ 1 ญัตติขอให้เลื่อนการประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผลการนับคะแนน เห็นชอบ 246 คะแนน ไม่เห็นชอบ 248 คะแนน งดออกเสียง 2 คะแนน

สุดท้าย “ชวน หลีกภัย” พลิกเข้าป้ายประมุขนิติบัญญัติ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “สั่งตัด” จาก “มือที่มองไม่เห็น” จึงถือเป็นชัยชนะของฝ่ายค้านไปโดยปริยาย

ครั้งที่ 2 เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ผลการนับคะแนน นายสุชาติ ตันเจริญ พปชร. 248 คะแนน น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ อนาคตใหม่ 246 คะแนน ฝ่ายรัฐบาลเฉือนชนะเพียง 2 เสียง

ครั้งที่ 3 เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ผลการนับคะแนน นายศุภชัย โพธิ์สุ ภท. 256 คะแนน ประสงค์ บูรณ์พงศ์ เสรีรวมไทย 239 คะแนน

ครั้งที่ 4 ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. วาระที่ 1 องค์ประชุม 411 คน (สมาชิกทั้งหมดขณะนั้น 498 คน) ผลการนับคะแนนรับหลักการ 451 เสียง ไม่รับหลักการ ไม่มี งดออกเสียง 8 เสียง

ครั้งที่ 5 ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างพิจารณาเสร็จแล้ว ผลการนับคะแนน เห็นด้วย 232 คน ไม่เห็นด้วย 246 คน งดออกเสียง 1 คน (ชวน หลีกภัย)

ครั้งที่ 6 ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างพิจารณาเสร็จแล้ว (ครั้งที่ 2) ผลการนับคะแนน เห็นชอบตามร่างที่ กมธ.แก้ไข 411 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1

ครั้งที่ 6 ภายหลังลงมติเป็นรายข้อ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (วาระที่ 3) ผลการนับลงมติเห็นชอบ 450 เสียง ไม่เห็นชอบ-งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนน 1 เสียง (นายกูเฮง ยาวอหะซัน ประชาชาติ)

ครั้งที่ 7 รายงานการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ผลการลงมติ เห็นชอบพร้อมข้อสังเกตไปยัง ครม. 412 เสียง ไม่เห็นชอบ 25 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง

ครั้งที่ 8 ญัตติด่วนขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการกำหนดพื้นที่ EEC นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประชาชาติ เป็นผู้เสนอ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 457 คน ผลการลงมติ เห็นด้วย 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 231 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง (ชวน และศุภชัย โพธิ์สุ)

เป็น “นัดสำคัญ” เพราะครั้งนี้ฝ่ายค้านแพ้ไป 7 เสียง สแกนงูเห่าจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน คือ “สมหญิง บัวบุตร” จากค่ายเพื่อไทย ลงมติสวน-ไม่เห็นด้วย

ครั้งที่ 9 ญัตติด่วนขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร เห็นด้วย 400 เสียง เต็มองค์ประชุม

หากกล่าวถึง ศม. 6 เสียง พรรคฝ่ายค้านต้อง “เผื่อใจ” ภายหลัง “เปลี่ยนตัว” หัวหน้าพรรค จาก “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” เป็น “มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์” ที่พร้อมยกมือโหวต “สวนมติ” วิปฝ่ายค้าน เป็น “ฝ่ายค้านสร้างสรรค์”

บวก “มือปริศนา” ของพรรคเพื่อไทย อย่างน้อย 20 เสียง โดยมี 14 ส.ส. ตัวเป็น ๆ ที่ไปปรากฏกายหม่ำข้าวกับกลุ่มสามมิตร ก่อนวันอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติเมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมจะขาด-ลา-มาสาย โหวตสวน-งดออกเสียง เป็นครั้งคราวในการโหวตกฎหมายสำคัญ

ขณะที่ 2 เสียงของ “ฝ่ายค้านอิสระ” แม้ว่า 2 พรรคจิ๋ว คือ ไทยศรีวิไลย์ กับ ประชาธรรมไทย จะประกาศปลดแอกจากรัฐบาล แต่กลับเห็น “พิเชษฐ สถิรชวาล” หัวหน้าประชาธรรมไทย ปรากฏตัวในทำเนียบ

เสียงปริศนา-ฝ่ายค้านอิสระ-งูเห่า ตัวตัดสินชี้ขาด พ.ร.บ.งบฯปี’63