ทีมเศรษฐกิจ รัฐบาล 3 ก๊ก ชิงเหลี่ยม ขุดชุดมาตรการอุ้มรากหญ้า

ยังไม่ทัน 4 เดือนเต็มของการบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กัปตัน-ลูกเรือเหล็ก 35 ชีวิต หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)-ปรับการทำงาน “ทีมเศรษฐกิจ” ก็ดังกระหึ่มขึ้น

ความ “ไม่เป็นกระบวนท่า” ของทีมเศรษฐกิจมีมาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ หลังจากโปรดเกล้าฯ “ครม.ประยุทธ์ 2/1” และเริ่ม “ปริ-แยก” เมื่อคำสั่งแบ่งงานในกำกับรองนายกรัฐมนตรี จาก 3 พรรค เมกะโปรเจ็กต์งานเก่าของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีต “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ถูก “ชักเย่อ” จนต้องอาศัยพละกำลัง-พลังภายใน อย่างหนักหน่วงเป็นที่มาของวาทกรรม “ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”

“พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้อง “ปรับกระบวนท่า” ทีมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ “อยู่ในครรลอง” สืบเนื่องจากตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 2562 ร้อยละ 2.4 คาดว่าทั้งปี โตไม่ถึงร้อยละ 3 “ต่ำสุดในรอบ 5 ปี” จนรัฐมนตรีเศรษฐกิจ “ก้นร้อน”-“นั่งไม่ติด” แม้ “ทีมสมคิด” จะพยายาม “เรียกความเชื่อมั่น” ด้วยการตั้งแท่น “ล้างท่อ” งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง

เม็ดเงินกว่าแสนล้าน มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย และมาตรการท่องเที่ยวชุดใหญ่ เพื่อ “เร่งเครื่องเศรษฐกิจ” ในช่วงปลายปีེ และ “ปั๊มตัวเลขจีดีพี” ไตรมาส 4 ขณะที่ทีมเศรษฐกิจ “ค่ายประชาธิปัตย์” ทยอยจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกร จากโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร

เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถลงลึกไปถึงเศรษฐกิจฐานราก “พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้องการ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” อีกครั้ง เลิกพึ่งพาการส่งออก ปรับการทำงานของ “ครม.เศรษฐกิจ” เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก-Local economy

Advertisment

โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย หาบเร่-แผงลอย วิสาหกิจชุมชน ไมโครเอสเอ็มอี การท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ OTOP เกษตรแปรรูปรายเล็กในที่ประชุม ครม.จึงเล่นบท-ปรากฏฉาก “ฤทธิ์มีดสั้น” ทั้งจากรัฐมนตรีปัจจุบัน-อดีตรัฐมนตรี-คั่วรัฐมนตรี นำมาสู่การปรับการทำงานของทีมเศรษฐกิจ…ไปไกลถึงการปรับ ครม.เศรษฐกิจ

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม เสนอตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก-ปากท้องประชาชน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ขณะที่ “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.การพัฒนาสังคมฯ เสนอ “ปลดล็อก” โครงการ “บ้านคนจน” ที่ยังติดเรื่อง EIA และให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP

ส่วน “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.อุดมศึกษาฯ เตรียมเปิดศักราชใหม่ในปีཻ ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” คิกออฟโครงการ “อาสาประชารัฐ รุ่น 1” ที่มีสมาชิกนักศึกษาปี 3 และปี 4 ประมาณ 300-400 คน ในเดือนมกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล และในเดือนมีนาคม 2563 จะเปิดโครงการ “บัณฑิตอาสา” เพื่อแก้ปัญหา “บัณฑิตตกงาน”

ขณะที่ข้อเสนอกึ่งวิชาการ-กึ่งการเมืองของ “ก๊กนารีตึกไทยคู่ฟ้า” หล่นไว้บนโต๊ะ “ครัว ครม.” ให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณา-เห็นชอบ เพื่อนำไปสู่ครม. คือ การตั้งกองทุน “PPPP” (Public Private Partnership People) หรือ Poverty Fund เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนเป็น social enterprise วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมเกษตรกรแปรรูป เพิ่มมูลค่าและกลับไปสู่เกษตรกรและคนยากจน เป็นการลงทุนเพื่อสังคม (social impact investment) ที่มีภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมลงทุนหลัก ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน

Advertisment

“เหมือนกองทุน TFF เพื่อทำโครงการ PPP กับโครงสร้างพื้นฐาน ระดมเงินจากตลาดเงิน ตลาดทุนไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีกลไกกำกับที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการขับเคลื่อน”

“รัฐมนตรีบางคน” ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ครม.เศรษฐกิจให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปลดล็อกโครงการเมกะโปรเจ็กต์ การชักจูง-ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น “แหล่งข่าวในวง ครม.” ขมวดปม ว่า ครม.ต้องการให้ “ครม.เศรษฐกิจ” เน้นเรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก” มากขึ้น เช่น เกษตรกร-สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และ SMEs ไม่ใช่โครงการประกันรายได้ ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แพ็กเกจดึงดูดนักลงทุนไทย-ต่างชาติให้มาย้ายฐานลงทุนในประเทศเท่านั้น

ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อทีมเศรษฐกิจสมคิด-พลังประชารัฐ ที่มี “อุตตม สาวนายน” เป็น “ขุนคลัง” ยังคงชุลมุนอยู่กับการคิดค้น “แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ขณะที่ “รัฐมนตรีค่ายสีฟ้า” ขะมักเขม้นอยู่กับนโยบายประกันราคา-ประกันรายได้เกษตรกร และการสวมบท “เซลส์แมน” เพื่อเร่ขายข้าว-ยางพารา-ปาล์ม ปั๊มชีพจรส่งออกให้ “กระดกหัว” ฝ่ากระแสเศรษฐกิจโลก-สงครามการค้า

ส่วนรัฐมนตรีค่ายภูมิใจไทยของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ยังกรำศึก “สื่อค่ายใหญ่”-“ใส่เกียร์ถอย” โครงการเมกะโปรเจ็กต์ ของรัฐมนตรีในสังกัด “ติดโผ” เป็น “เบอร์ต้น” ถูก “ซักฟอก” ไม่นับรวม “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย-รัฐมนตรีโควตา 3 ป. เป็นเอกเทศ-ไม่ขึ้นตรงกับใคร ยังไม่สามารถใช้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เฟื่องฟูได้

เมื่อเป็นรัฐบาลผสม-ไม่มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รัฐมนตรีเศรษฐกิจมาจากต่างพรรค-ต่างพวก บริหารเศรษฐกิจไปคนละทิศ-คนละทาง “ตีโจทย์” เศรษฐกิจ “ไม่แตก” ดึงเศรษฐกิจไทยให้จมดิ่งลึกลงไปอีก