ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ‘ธาริต’ 2 ปี คดีแจ้งข้อหา ‘มาร์ค-เทือก’ สลายชุมนุมนปช.

แฟ้มภาพ

วันที่ 6 มีนาคม 2563 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า กรณีเมื่อเดือน ก.ค. 2554 – 13 ธ.ค. 2555 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย นปช.ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย โจทก์ได้มอบนโยบายชัดเจนว่าให้สลายการชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เพื่อระงับความเสียหายของบ้านเมือง โจทก์ไม่ต้องรับผิด เมื่อการชุมนุมยุติลง ดีเอสไอก็ได้สอบสวนดำเนินคดีแกนนำและชายชุดดำข้อหาก่อการร้ายด้วย ต่อมานายธาริต จำเลยที่ 1 ยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จำเลยทั้งสี่จึงร่วมกันแจ้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน กลั่นแกล้งโจทก์สนองความต้องการของรัฐบาล ซึ่งดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โดยเห็นว่าพยานที่โจทก์ที่นำสืบมานั้น ไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ จำเลยทั้งสี่เป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการที่ร่วมสอบ จึงไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนหลักฐานอื่นเป็นเพียงพยานแวดล้อมและความเห็นทางกฎหมาย
วันนี้นายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ และกลุ่มพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จำเลยทั้งสี่ ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล

โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นควรเเจ้งข้อหาโจทก์ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการสลายการชุมนุมปี 53 จำเลยทั้ง 4 เคยมีความเห็นว่าการชุมนุม นปช.เป็นความผิดกฎหมายจึงเเจ้งจ้อหาก่อการร้าย เเสดงว่าจำเลยที่ 1-4 เห็นว่าโจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ เเม้ภายหลังการไต่สวนการตายของ นายพัน คำกอง ศาลอาญาจะชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร เเต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการกระทำโจทก์ทั้ง 2 เป็นความผิด จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกัน ฟังได้ว่าการที่จำเลยทั้ง4มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นเเกล้งโจทก์ทั้งสองเพื่อเอาใจรัฐบาลเพื่อมีผลในการต่ออายุตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้ง4สืบสวนสอบสวนโจทก์ทั้ง 2 พร้อมเเจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลทั้งที่เป็นอำนาจ ปปช.การกระทำจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้ง4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 เเละมาตรา 200 วรรค 2 การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลักบทให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรค 2 จำคุก 3 ปี เเตเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทุกคนคนละ 2 ปี

โดยภายหลังฟังคำพิพากษานายธาริต กล่าวเพียง สั้น ๆ ว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา