ทุกพรรคโหนกระแสแก้พิษโควิด สารพัดแพ็กเกจอุ้มคนรวย-ช่วยคนจน

รายงานพิเศษ

วัคซีน-ยาแรง เพื่อ “ตัดวงจร” การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กลายเป็นบูมเบอแรงเป็น “ผึ้งแตกรัง” เกิดความ “โกลาหล” ทั้งการกักตุนอาหาร และแห่กลับภูมิลำเนา

6 ด้าน 15 มาตรการ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และมาตรการ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพมหานคร 14 วัน และ 21 วัน เพื่อ “ถอนพิษ” โควิด-19 “ลักลั่น-อีหลักอีเหลื่อ-ละล้าละลัง” ไม่มีแผนรองรับ-แผนสำรอง จนเกิดปรากฏการณ์ “หนีตาย”

ต่อท่อออกซิเจน…ทำทันที

“กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า ใช้ประสบการณ์บริหารงบประมาณ “ฉุกเฉิน” มาแล้วในยุค “เช็คช่วยชาติ” กางข้อเสนอ-เพิ่มมาตรการ-ทำทันที

โดยเฉพาะการเติม “กระแสเงินสด” ให้ประชาชน “เสริมสภาพคล่อง” ให้กับผู้ประกอบการ-เอสเอ็มอี

“รัฐบาลต้องคิดวิธีการต่อสายออกซิเจน ต่อสายป่านให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ค้ารายย่อย ประชาชนหาเช้ากินค่ำที่มีภาระค่าใช้จ่าย และกำลังสูญเสียรายได้ เช่น ถูกปลดออกจากงานพักงาน ไม่มีเงินเดือน”

มาตรการลดค่าใช้จ่าย หนึ่ง จ่ายดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน

ปลดล็อก “เงินฉุกเฉิน”

สอง รัฐจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง รายละ 750 บาท ระยะ 6 เดือน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างเสียสิทธิ ไม่ให้นายจ้าง lay off

มาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารออมสินปล่อยตรงแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไม่ต้องมีหลักประกัน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อ “ไม่ให้เจ๊ง”

“เรื่องที่ต้องทำทันที กระจายเม็ดเงินให้ตรงเป้าหมายรายย่อย เข้าถึงเงินโดยไม่พึ่งการกู้นอกระบบ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติ”

“กรณ์” เสนอ “ปลดล็อกเงินแผ่นดิน” 3 ระดับ ระดับที่หนึ่ง การปรับแผนการใช้เงินในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี’63 ระดับที่สอง การออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี ระดับที่สาม การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน

“สิ่งที่ต้องทำเลย มีคนตกงาน ถูกสั่งพักงาน ไม่มีเงินเดือน รัฐจะดูแลให้มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท/คน/เดือน เนื่องจากอยู่ในสภาวะวิกฤต รัฐปล่อยให้อดตายไม่ได้”

ตัดรายจ่าย-เติมสภาพคล่อง

“ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอ 4 ไอเดีย (policy ideas) ตัดหนี้-ตัดรายจ่าย-เติมสภาพคล่อง ให้คนไทยได้ตั้งหลัก

1.ลด-งดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าจำเป็น นอกเหนือจากสินค้าที่ได้ยกเว้นตามประมวลรัษฎากร อาจรวมถึง น้ำ นม ยารักษาโรค อาหารสำเร็จ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านสำหรับทำความสะอาด เป็นเวลา 3 เดือน (มูลค่าประมาณ 1-2 แสนล้าน) เพื่อช่วยประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ในเวลาอันสั้น

2.พักหนี้ระยะยาว 3 เดือน (สินเชื่อบ้าน ธ.ก.ส. กยศ. สินเชื่อ SMEs) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร นักศึกษา SMEs และบุคคลธรรมดาที่ต้องผ่อนบ้าน

3.รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน 75% เวลา 3 เดือน ชดเชยค่าจ้างช่วงกักตัว ช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน หาเช้ากินค่ำ ที่ได้รับคำสั่งให้หยุดยาวจากรัฐบาล

4.ปลดล็อกให้ขาย LTF ก่อนกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าปรับเพื่อเติมสภาพคล่องให้พนักงานออฟฟิศ ในอุตสาหกรรมที่โดน “leave without pay”

“ตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ยังสามารถกู้เงินได้อีก และในตอนนี้ดอกเบี้ยยังต่ำ เปรียบเสมือนการกู้เพื่อซ่อมบ้านก่อนจะพังทั้งหลัง”

ชาวบ้านต้องรักษา-ไม่มีต้นทุน

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำ “คณะก้าวหน้า” โชว์ภาวะผู้นำนอกทำเนียบเสนอทางแก้โควิด -19 ว่า มันมีต้นทุนของการหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน มีต้นทุนของการไม่ออกไปทำงาน คนที่แบกรับต้นทุนส่วนใหญ่ และหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่น คือ “กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย”

“รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้เขากระทำมาตรการการหลีกเลี่ยง การพบปะผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการแสดงตัวอาจหมายถึงการหยุดงาน ดังนั้น ต้องให้เขาแสดงตัวได้อย่างไม่มีต้นทุน”

“ต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้อย่างต้นทุนน้อยที่สุด เพื่อให้กลุ่มที่มีรายได้น้อยใช้มาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“อย่าผลักภาระให้คนที่มีรายได้น้อย รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระยะที่ 3 จนไม่สามารถควบคุมได้”

มาตรการที่เข้มงวดที่สุด ปิดสถานที่ราชการ ห้างร้านเอกชน สถานศึกษาทุกแห่’ ห้ามการเดินทางสาธารณะ การประกาศเคอร์ฟิว บังคับห้ามคนออกจากบ้าน เหลือไว้แต่เพียง ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาเท่านั้น อาจจะเกิดขึ้นได้

“เราไม่ได้ขาดคนที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เราขาด คือ ผู้นำที่เข้าใจปัญหา ผู้นำที่มีหลักคิดที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา 2 เดือนที่ผ่านมาดูแลคนไทยไม่เท่าเทียมกัน ไม่เห็นหัวคนเล็กคนน้อย”

รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการสั่งการ การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องแก้ไขปัญหากระบวนทัศน์ใหม่ จัดความสำคัญใหม่ เราจะคิดแต่มาตรการใดมาตรการหนึ่งไม่ได้

“เราไม่เสนอให้ยุบสภา เพราะจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง แต่การให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป โอกาสที่จะฝ่าวิกฤตเป็นไปได้ยากมาก ถ้าผู้นำไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน”

วิกฤตโควิด-19 จะอยู่กับเราอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย ยิ่งแก้ ยิ่งตัดสินใจช้า ต้นทุนทางสังคมในการแก้ปัญหาในอนาคตจะยิ่งสูงมาก

“ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเสียสละให้ประเทศไปต่อได้แล้ว ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ ผลร้ายยิ่งมหาศาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจการบริหารงานในทางเศรษฐกิจ เป็นเวลาที่กลุ่มชนชั้นนำต้องพิจารณาเรื่องนี้จริงจัง”

ลดภาษีนิติบุคคล-VAT

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ “วัคซีนแรง รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ” มาตรการ “กำปั้นเหล็ก” ด้านความมั่นคง-ยาแรง คือ การปิดประเทศ คนไทยห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ผ่อนผันดอกเบี้ยเชิงรุก อาทิ ซอฟต์โลน ปล่อยสินเชื่อระยะสั้น ลดดอกเบี้ย พักหนี้ เพราะหลายอุตสาหกรรมกระแสเงินสดมีปัญหา

“มาตรการการคลังสำคัญมาก แต่ต้องอัดฉีดยาแรงอย่างมียุทธศาสตร์ ยิงกระสุนให้ตรงจุด”

การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น นโยบายภาษีสำคัญมากในปีนี้ คือ ลดภาษีนิติบุคคล 5-10% และผ่อนผันหรือยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้กับ SMEs เพื่อไม่ให้ปลดพนักงาน ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 1-2% เพื่อลดค่าใช้จ่าย

“ถ้าชนะวิกฤตสาธารณสุขเร็ว เศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็ว”

“วิกฤตที่เรากำลังเผชิญหน้าขณะนี้ต้องรับมือกับเสมือนการเข้าสู่สภาวะสงคราม สงครามที่เกี่ยวกับการรบเพื่อชนะโควิด-19 สำคัญมาก ถ้ารบแล้วไม่ชนะสงครามแปลว่าเราจะพ่ายแพ้สงครามเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจจะตามมา”

วิกฤตครั้งนี้ต่างจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตต้มยำกุ้ง วัคซีน ยาแรงเกี่ยวกับมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง อาจเป็นกระสุนด้าน ไม่ทำให้เศรษฐกิจกระปรี้กระเปร่าในเร็ววัน

ปูพรม-เอกซเรย์ 3 สัปดาห์

“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข-ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ประกาศยุทธการปูพรม-เอกซเรย์ 3 สัปดาห์ เพื่อควานหาผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ปิดประเทศต้อง “end game”

1.ต้องจัดการองค์กรบริหารวิกฤต 2.ควบคุมการระบาดให้เร็ว 3.การสื่อสาร สร้างความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนให้เดินตามผู้นำประกาศ และ 4.เร่งแก้เศรษฐกิจ

“อย่าให้ผู้ติดเชื้อใหม่เข้าประเทศ ควานหาผู้ติดเชื้อในประเทศภายใน 3 สัปดาห์ หลังสงกรานต์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงเหมือนไต้หวัน จบเร็วคนไทยปลอดภัย จบเร็วเศรษฐกิจฟื้นเร็ว”

ต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งหมด รีบจ่ายเงินให้เร็วที่สุด เงินชดเชยภัยแล้ง ไม่ต้องรอ จ่ายตรงไปที่คนเดือดร้อน เยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ต้องออกตอนนี้ ให้มีสายป่านได้อยู่ต่อ จะต้องปิดอีกเท่าไหร่ อมโรคอีกเมื่อไร จะเอาอะไรกิน

“ลงเงินให้ตรงจุดคนที่เดือดร้อน ประคับประคองให้มีเงินจ้างลูกจ้างต่อ ลูกจ้างพออยู่ได้ สยบโรคให้เร็วที่สุด คลีนอัพประเทศ 21 วัน เก็บตกอีก 1 เดือน ปลายเมษายนประกาศ ผู้นำเข้มแข็ง นายกฯต้องกล้าตัดสินใจ”

คุมการระบาดให้เร็ว เติมเงินให้คนเดือดร้อนให้เร็ว ต้องหาทางแจกเงิน แต่ต้องแจกแบบมี productive ให้มีรายได้ ให้มีทรัพย์สินใหม่เกิดขึ้น

“แจกให้ชาวบ้านไปขุดบ่อหัวไร่ ปลายนา ใช้แรงงานในพื้นที่ เงินจะกระจาย ส่วนธุรกิจรายเล็ก รายน้อย ร้านใหญ่ที่กระทบรีบช่วยเหลือตอนนี้เลย จะสินเชื่อ ช่วยดอกเบี้ย ให้เงินเพื่อจ้างพนักงานต่อ ต้องรีบทำ”