สำนักข่าวเอพีวิเคราะห์ ทรัมป์เปิดทำเนียบขาวรับบิ๊กตู่ ชี้การต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารหาได้ยากยิ่ง

(AP Photo/Evan Vucci)

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. สำนักข่าวเอพี รายงานข่าวและภาพการเดินทางมาทำเนียบขาวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมนางนราพร ภริยา และพบปะกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนางเมลาเนีย สตรีหมายเลขหนึ่ง ว่าเป็นการต้อนรับผู้นำทหารของประธานาธิบดีสหรัฐที่หาได้ยากมากในกรุงวอชิงตัน เพราะมาเยือนก่อนที่ประเทศจะกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน

President Donald Trump and first lady Melania Trump greet Thailand’s Prime Minister Prayuth Chan-ocha, and his wife Naraporn Chan-ocha, Monday, Oct. 2, 2017, as they arrive at the White House in Washington. (AP Photo/Carolyn Kaster)

การมาครั้งนี้มีขึ้นหลังเหตุรัฐประหารในไทยผ่านพ้นมา 3 ปี และเป็นช่วงไม่กี่วันหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่งต้องโทษจำคุก 5 ปีจากคำพิพากษาซึ่งจำเลยไม่มารับฟัง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างไม่พอใจในหมายนี้ แต่ถือเป็นการดึงสัมพันธ์ของสหรัฐกับพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียกลับมา หลังไทยหมุนเข้าวงโคจรของจีน นับจากทหารยึดอำนาจ จนสัมพันธ์กับสหรัฐถอยหลัง

(AP Photo/Carolyn Kaster)

รัฐบาลของทรัมป์เหมือนรัฐบาลโอบามาตรงที่ยังรักษาความสัมพันธ์กับไทยไว้เพื่อรอให้ฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่การปูพรมแดงต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์สะท้อนถึงการเปลี่ยนความสำคัญในนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ

ทรัมป์ย้ำเสมอว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” หมายถึงต้องมุ่งผลประโยชน์ทางการค้าและยุทธศาสตร์ ดังนั้นจึงยินดีจะคบหาบรรดาผู้นำที่อยู่ตรงข้ามประชาธิปไตย และมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

ต้อนรับในห้องรูปไข่ (AP Photo/Evan Vucci)

เป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐที่จะพบผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดในห้องรูปไข่ของทำเนียบขาว แต่การพบผู้นำที่มาจากรัฐประหารนั้นยิ่งทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นไปอีก

ก่อนหน้านี้ ในยุคจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยต้อนรับพล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ แห่งปากีสถาน ด้วยความที่เป็นพันธมิตรปราบปรามการก่อการร้าย แม้มูชาร์ราฟจะเคยก่อรัฐประหาร แต่ก็มาทำเนียบขาวได้ในปี 2545 หรือช่วง 3 หลังการรัฐประหารและได้รับประชามติระดับชาติให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว

(AP Photo/Evan Vucci)

สำหรับนายทรัมป์เองมักแสดงถึงความชื่นชอบผู้นำประเทศอื่นที่มีลักษณะปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาด เช่น กรณีชมนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดแต่ทำให้เกิดการสังหารผู้คนแบบตัดตอนไปหลายพันราย

นอกจากนี้ยังเชิญนายพลอับดุล-ฟัตตาห์ อัลซิซี ประธานาธิบดีอียิปต์มาทำเนียบขาว ทั้งที่เป็นสิ่งที่โอบามาเลี่ยงมาตลอด นับจากอัลซิซีก่อรัฐประหารในปี 2556 และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

AP Photo/Evan Vucci)

พล.อ.ประยุทธ์เหมือนพล.อ.อัลซิซีในแง่ที่ทิ้งเครื่องแบบทหาร แต่ก็ยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลทหาร ที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 หลังความวุ่นวายทางการเมืองในไทย แม้ความไม่สงบจะยุติลง แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า แลกมากับราคาที่แพงมากสำหรับประเทศที่เคยมีประชาธิปไตยอย่างมีชีวิตชีวาในเอเชีย

โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติคนหนึ่งของสหรัฐที่ไม่ได้มีอำนาจพูดกับสาธารณชน เปิดเผยว่า สหรัฐจะยังคงกระตุ้นให้ไทยกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยและฟื้นฟูเสรีภาพพลเมือง แต่โฆษกท่านนี้ปฏิเสธที่จะบอกว่าประเด็นนี้ นายทรัมป์จะหยิบยกมาพูดกับพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ กล่าวเพียงว่า ต้องการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ

(AP Photo/Evan Vucci)

หลังการรัฐประหาร สหรัฐระงับความช่วยเหลือทางทหารและการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนแล้ว แต่ไม่ได้มีผลต่อรัฐบาลไทย เพราะภายใต้รัฐบาลทรัมป์ สหรัฐอนุญาตให้ขายอาวุธเพิ่มให่ไทยได้

จอห์น ซิฟตัน จากฮิวแมนไรต์วอตช์ คาดคะเนว่า การหารือนี้จะไม่มีเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะนายทรัมป์มักชื่นชมผู้นำที่ใช้อำนาจเด็ดขาด และมีความเห็นเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้อำนาจนั้นในทางละเมิด

ส่วนวอลเตอร์ โลห์แมน จากมูลนิธิเฮอริเทจ แนวเอียงขวา เห็นว่าทรัมป์น่าจะคุยเรื่องประชาธิปไตยหลังฉากกับพล.อ.ประยุทธ์ เพราะถึงจะเป็นห่วงเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ควรให้มาทำลายความสัมพันธ์กับพันธมิตร

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์