เอฟเฟ็กต์คดี “บอส อยู่วิทยา” ปัดฝุ่นพิมพ์เขียวปฏิรูปตำรวจ

คดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก ถูกกล่าวขานสะท้านในสามโลก สะเทือนวงการสีกากี ทะลุไปถึงกระบวนการยุติธรรมภายหลังอัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” กรณีซิ่งรถหรูดับ “ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ”ผบ.หมู่งาน ป.สน.ทองหล่อ เสียงปฏิรูปตำรวจ-กระบวนการยุติธรรมไทยดังกระหึ่ม-ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อกู้วิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมไทยให้กลับมาสว่างไสว

ทว่าที่ผ่านมา แนวคิดการชำระล้างคราบไคลที่ฝังลึกโล่เงิน-รื้อระบบยุติธรรมไทย เกิดขึ้นมาหลายรัฐบาล เพื่อเป็นสารตั้งต้นล้มระบอบอุปถัมภ์ ตัดวงจรอุบาทว์-การเมืองแทรกแซง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ-พายเรือวนอยู่ในวังวนความอยุติธรรม แม้กระทั่งรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี 2 สมัยก็ยังไม่สามารถปฏิวัติวงการสีกากีได้สมใจปอง สมัยแรกที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์-เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในยุคควบหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมัยที่สอง ที่มีอำนาจเสียงข้างมากทั้งในสภาบน-ส.ว.สายตรง คสช. 250 เสียง และสภาร่าง-ส.ส. 275 เสียง 20 พรรคการเมือง

ในยุคปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง รัฐบาล-คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ “ผ่าตัด” โครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)-องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อให้นโยบาย “ปลอดจากการเมืองแทรกแซง” โดยการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยกำหนดองค์ประกอบของ ก.ต.ช. ยกเลิกมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และกำหนดองค์ประกอบ ก.ต.ช.ขึ้นใหม่

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง-องค์ประกอบ ก.ต.ช.ใหม่ คือ ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็น “ฝ่ายการเมือง” เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก.ตร. โดยตัดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ได้แก่ อดีตข้าราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการ (ผบช.) ขึ้นไปที่พ้นจากการรับราชการตำรวจไม่เกิน 1 ปี และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นตำรวจ โดยเพิ่มผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ และรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา จำนวน 2 คน

โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 18 (3) ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อแก้ปัญหาการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอชื่อ จากเดิมนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ ผบ.ตร.

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อ”ยกเครื่อง” องค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ขึ้นมาแล้วหลายชุด ทั้งในแม่น้ำ 5 สาย คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ “นายตำรวจตงฉิน” พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นที่ปรึกษา นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมการ กรรมการ อาทิ พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายไพโรจน์ พรหมสาส์น

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายวิรัช ชินวินิจกุล และนายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธาน นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ เป็นรองประธาน

ผลการศึกษา อาทิ ก.ตร.ต้องเป็นอิสระ-ไม่ถูกครอบงำ การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่ถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจทางการเมือง หรืออิทธิพลจากภายนอก-ภายใน ลดการใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้งโยกย้าย-ป้องกันการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ข้อเสนอที่เป็นหัวใจ คือ “ผู้ทำหน้าที่ประธาน ก.ตร. ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองสามารถครอบงำได้เกือบทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการประจำ”

กำหนดให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นอำนาจของ ก.ตร. ไม่ให้ฝ่ายการเมืองใช้องค์กรนี้เพียงประโยชน์ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เท่านั้น การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ดำเนินการโดย ก.ตร. เพียงองค์กรเดียว ด้วยการคัดเลือกจากจเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร.

“แล้วให้ข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการ (ยศ พล.ต.อ.ขึ้นไป) ลงคะแนนเลือกเหลือจำนวน 1 คน เพื่อเสนอ ก.ตร. พิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ต่อไป”

การแต่งตั้งโยกย้ายป้องกันการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง อาทิ ยึดอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถ มีระเบียบ หลักเกณฑ์ถูกต้อง รัดกุม เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ การปรับระบบประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวน พิจารณาจากคุณภาพของสำนวนการสอบสวน ไม่ใช่นับเฉพาะจำนวนคดี พนักงานสอบสวนมีเส้นทางการเจริญเติบโตชัดเจน เลื่อนไหลถึงตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (ผู้บังคับการ)

พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความทุกคดี จัดให้มีชุดฝ่ายสืบสวนในคดีอาญาสืบเฉพาะคดีที่เกิดเหตุ (หลังเกิดเหตุ) ถ่ายโอนภารกิจให้แก่หน่วยงานอื่นโดยตรง เช่น การบังคับใช้กฎหมายในงานจราจรไปให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล ด้านการตรวจคนเข้าเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศ

แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี”พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” เป็นประธาน บุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ คารวะเป็น “อาจารย์” ยังไม่สามารถถอนราก-ถอนโคนระบอบตำรวจที่หยั่งรากฝังลึกได้ข้อเสนอของ “พล.อ.บุญสร้าง” เป็นการนำข้อเสนอของคณะกรรมการชุดเก่ามาปัดฝุ่น-ล้างน้ำใหม่ เช่น การให้
ก.ตร. แต่งตั้ง ผบ.ตร. แทน ก.ต.ช.

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวน คดีอาญา พ.ศ. …. ที่มีพญาครุฑทางกฎหมาย อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

ขณะที่ “วาระปฏิรูป” ตามรัฐธรรมนูญยังได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ฉบับที่ 1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานครั้งที่ 2 (ชุดปัจจุบัน) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธานยุคที่ตำรวจเฟื่องฟูที่สุด ถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐตำรวจ” คือ ในช่วงหลังรัฐประหาร 2490 “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กล่าวประโยคว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”

ได้ก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นใหม่จำนวนมาก เช่น หน่วยตำรวจน้ำ หน่วยตำรวจพลร่ม หน่วยตระเวนชายแดน หน่วยตำรวจม้า หน่วยตำรวจรถเกราะ และใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เสียงปฏิรูปตำรวจก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่า นักการเมืองได้ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมืองยุคตำรวจครองเมือง-รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) แก้ไข พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นกรม (มาตรา 46)

อย่างไรก็ตาม มีการตรา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ขึ้นมาใหม่-ยกเลิกฉบับเก่า โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาการของนายกรัฐมนตรีหรือในยุคทหารเป็นใหญ่ รัฐบาล-คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ” ที่มี “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” เป็นประธานโดยมีข้อเสนอแยกกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกจาก ตร. ในรูปแบบนิติบุคคลและเปลี่ยนตำแหน่ง ผบช.ภ. และ ผบช.น. ให้เป็น อธิบดีตำรวจภาค และอธิบดีตำรวจนครบาล

ทว่าเมื่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เวลาเหลือน้อย “ผลการศึกษาและวิจัย” ก็ถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักอย่างไรก็ดี รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ฟื้นคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจขึ้นมา และนำผลการศึกษามา “ปัดฝุ่น” แต่รัฐบาลหมดวาระลงเสียก่อน ประกอบกับเกิดความขัดแย้งทางการเมือง-ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง