จุดยืน “จุรินทร์-ประชาธิปัตย์” แก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. ไม่แตะหมวด 1-2

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
FILE PHOTO : จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนเห็นด้วยกับฝ่ายค้าน ตั้ง ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ข้องเกี่ยวหมวด 1 และ 2

วันที่ 23 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ ประการที่ 1 เพราะเหตุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งเนื้อในและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล

ประการที่ 2 ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสมก็ควรได้รับการแก้ไขได้ เพราะว่าแม้แต่ในตัวรัฐธรรมนูญเอง ก็ได้เปิดทางไว้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256

“ควรจะมีการแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อน และมากเงื่อนไขจนเกือบจะเรียกได้ว่าปิดประตูตาย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะทำไม่ได้ หากเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เป็นเบื้องต้น อย่างน้อยก็จะเป็นการสะเดาะกุญแจที่รัฐธรรมนูญนี้ล็อคไว้ให้เปิดออกไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตยิ่งขึ้นได้”

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์นั้น โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญโดยลำพังได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแค่ 52 เสียง การเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า1 ใน 5 คือ 100 เสียงโดยประมาณ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีไม่ถึง

“เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยใช้วิปรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ”

นายจุรินทร์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 256 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เสียงของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขแต่เพียงเท่านี้ ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกนั่นคือในเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้น จำเป็นจะต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ประมาณ 48 เสียง และจะต้องมีวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียงโดยประมาณ

นอกจากนั้นหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านสภายังจำเป็นต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุนี้ ความร่วมมือของรัฐสภาจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเป็นเสียงของวุฒิสมาชิก ขาดหายไปไม่เพียงพอตามเงื่อนไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

นายจุรินทร์กล่าสว่า สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผล ประการที่ 1 ร่างฉบับนี้มีการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จุดประกายมาแต่ต้น ก่อนการตัดสินใจร่วมรัฐบาล และเป็นจุดยืนมาตั้งแต่เบื้องต้น
ประการที่ 2 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ประการที่ 3 ถ้ามีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาระหว่างการยกร่าง ประชาธิปัตย์จะมีส่วนร่วมในฐานะพรรคการเมือง ด้วยการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของ ส.ส.ร. และร่วมให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ในฐานะผู้ปฏิบัติ และผู้ใช้รัฐธรรมนูญ

นายจุรินทร์กล่าวว่า ประชาธิปัตย์จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน หรือสิทธิของผู้ด้อยโอกาส เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของการจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เรื่องของระบบการเลือกตั้งควรมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตกจนส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพ

“ที่สำคัญในเรื่องของอำนาจของหน้าที่ของวุฒิสภา ผมสนับสนุนให้มีวุฒิสภา เพราะ รัฐสภามีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภาประกอบ แต่ถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วุฒิสภาก็ควรมีอำนาจและบทบาทจำกัด”

นายจุรินทร์กล่าวสรุปว่า เห็นด้วยกับร่างแก้ไขธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แตะหรือแปลว่าไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2

“ทั้งหมดนี้คือจุดยืนของกระผม เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมและพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีหลักการใกล้เคียงกัน”