เอฟเฟ็กต์โควิด ระบาดใหม่ “ประยุทธ์” ล็อกพื้นที่เสี่ยง พักรบม็อบราษฎร

ปี 2564 เศรษฐกิจ-การเมืองประหนึ่งถูก “แช่แข็ง” ไว้ (ชั่วคราว) จากเคราะห์ซ้ำ-กรรมซัดของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประดิษฐ์คำเรียกว่า “ระบาดใหม่”

ปี 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับพวกจากที่เจียนอยู่-เจียนไป “หลังพิงฝา” ด้วย 3 ข้อเรียกร้อง “สูงเสียดฟ้า-ทะลุเพดาน” ของ “ม็อบราษฎร”

ทว่าในช่วง “รอยต่อ” ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “พลิกตัว” 360 องศา กลับมา “ตั้งหลัก” ด้วยการบังคับใช้ “กฎหมายทุกมาตรา” ให้กลายเป็น “ข้อหาหนัก” ทั้งกฎหมายความมั่นคง มาตรา 116 และกฎหมายคอมพิวเตอร์

โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “กดทับ” เป็น “แนวรุก” พุ่งใส่แกนนำม็อบราษฎร เป็น “ข้อหาหนัก” ให้ “โงหัวไม่ขึ้น”

ขณะเดียวกัน การชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ที่กำลังเข้มข้น-เข้าด้ายเข้าเข็มถูก “คั่นเวลา” จากการ “ยื่นดาบ” ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด “ล็อกดาวน์” ในบางจังหวัด-บางพื้นที่

โดยการกำหนดเป็น “โซนสี” แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว เป็น “พื้นที่ควบคุม” และ “พื้นที่เฝ้าระวัง” ตามความเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ รวมแล้วกว่า 30 จังหวัด

แม้ดู “ผิวเผิน” อาจจะไม่ใช่การ “ปิดประเทศ” แต่ถ้าดู “ไส้ใน” แล้ว ไม่ต่างอะไรจากการ “ล็อกดาวน์” แต่เป็นการใช้ “ทางเบี่ยง” เพื่อเลี่ยงใช้ถ้อยคำที่จะกระทบประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล-บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

ตลอดจนเพื่อไม่ให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” ต่อประชาชน-บั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่อนักลงทุน

สำหรับพื้นที่ควบคุม-เฝ้าระวังทั้ง 4 โซน แทบจะ “ไม่ต่างกัน” คือ การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการที่มีความจำเป็น ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้า-ออกจากพื้นที่โดยเด็ดขาด ควบคุมการเข้า-ออกของยานพาหนะ และบุคคลคนไทย โดยมิให้กระทบต่อการค้าและการอุตสาหกรรมมากเกินความจำเป็น

ให้มีการจัดตั้งด่านคัดกรอง จุดสกัด และสายตรวจ เพื่อให้มีการควบคุมและจำกัดการเข้า-ออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพการใช้มาตรการ work from home อย่างเต็มขีดความสามารถ สถานศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์

งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากทุกรูปแบบ-จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทุกสถานประกอบการ และโรงงานที่ยังเปิดดำเนินการให้เน้นมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเต็มความขีดความสามารถ ทั้งในบริเวณโรงงานและที่พัก หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดให้พิจารณาหยุดการดำเนินการ

รวมทั้งการประมงสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนการออกเรือ

มิหนำซ้ำยังเป็น “ข้ออ้าง” ไม่ต้องออก “มาตรการเยียวยา” เพิ่มเติม จากที่กระทรวงแรงงาน “นำร่อง” ออกมาตรการชดเชยค่าจ้างแรงงาน 50% กรณี “ตกงาน”

นอกจากนี้ยังไม่จำเป็นต้องเตรียมงบประมาณ-เม็ดเงิน เพื่อแจกเงินคนละ 5,000 บาท เหมือนเมื่อครั้ง “ระบาดครั้งแรก” เช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” จนต้องกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้ในการเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจาก “เอฟเฟ็กต์” จากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” กว่า “ค่อนจังหวัด” ทำให้เกิดการ “ตกงาน” แล้วย่อมส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวเป็นเงาตามตัว อย่างน้อยในช่วงปีใหม่ 10 วันนับจากประกาศเป็น “พื้นที่อันตราย”

รวมถึง “อาฟเตอร์ช็อก” เพราะนักท่องเที่ยว “ไม่มั่นใจ” เดินทางไป “จับจ่ายใช้สอย” ในจังหวัดที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด-เฝ้าระวังสูงสุด

จากที่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “แม่ทัพเศรษฐกิจ” หมายมั่นปั้นมือ-วางโรดแมปเศรษฐกิจหลังโควิด ให้เป็น “ปีแห่งการลงทุน” และเป็นปีแห่งการรื้อราก-ถอนโคน “เศรษฐกิจเก่า” เพื่อขึ้นรูป-ลงหลักปักฐาน “เศรษฐกิจใหม่”

ทว่าเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 “ระบาดใหม่” ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องเกียร์ถอยหลัง(R) ก่อนจะใส่เกียร์เดินหน้า (D) เต็มตัวราวครึ่งหลังของปี’64 ก่อนที่จะเคลื่อนเศรษฐกิจให้ทะยานในปี’65 เต็มตัว

ช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ในช่วง “พักรบ” ม็อบราษฎร หลังจากเตะ “เผือกร้อน” ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และการสร้างความปรองดอง-สมานฉันท์ “ข้ามรั้ว” ทำเนียบรัฐบาล ไปเป็น “ระเบิดเวลา” ที่สัปปายะสภาสถาน