ก้าวไกล ก้าวหน้า ซัดกันเละ “ปิยบุตร” ดุลูกพรรค ปมแก้ ม.112

“ปิยบุตร” เดือด ส.ส. คือผู้แทนราษฎร ไม่ใช่พนักงานรัฐ หลัง ส.ส.ก้าวไกล ประกาศไม่ทำตามมติพรรค แก้ ม.112 ชี้ หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียน [ขออภัยพี่น้องประชาชนหากผมโหวตสวนมติพรรค x ศรีราชา] ผ่านเฟซบุ๊กโชว์จุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 โดยระบุว่า “กระผมนาย ขวัญเลิศ พานิชมาท (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี) ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนชาวศรีราชา ที่กระผมต้องทำการขออนุญาตใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับมาจากการที่พี่น้องประชาชนชาวศรีราชา ได้เลือกกระผมในฐานะตัวแทนผู้สมัครรับเลือกในนาม พรรคอนาคตใหม่

กระผมขออนุญาตไม่ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ตามมติพรรค (หรือพูดง่าย ๆ สวนมติพรรค) ซึ่งกระผมยอมรับผลการลงโทษและการคาดโทษจากทางพรรคที่จะตามมา

และพร้อมน้อมรับคำวิจารณ์จากพี่น้องประชาชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ทุกท่าน กระผมไม่สามารถลงชื่อญัตตินี้ ซึ่งเป็นมติพรรคได้ เพราะขัดกับหลักการส่วนตัว

พรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลเป็นพรรคที่ดีและมีอุดมการณ์ ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ ส่วนตัวผมทำงานในพื้นที่ควบคู่กันไป ผมมีความต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ห่วงใยปากท้องชาวบ้าน จึงอาจไม่มีบทบาทมากนักในสภา

สุดท้ายนี้กระผมไม่เคยลืมตัว และยังสำนึกในพระคุณของพรรค รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ได้ให้โอกาสกระผมมาทำหน้าที่ตรงนี้ ครับ”

ขณะเดียวกันในช่วงเช้าวันนี้ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า

“ผมไม่เซ็นครับๆ บอกผ่านสื่อได้เลยว่า ผมไม่เซ็นครับ ไม่ทราบคนอื่นจะเซ็นหรือไม่ แต่ผมไม่เซ็น และบังคับผมไม่ได้ ผมเคยงดออกเสียงในเรื่องกฏหมายโอนกำลังพลฯ แต่เมื่อพรรคมีมติผมก็มีมารยาท ผมรู้กติกา ผมรู้ระดับความรุนแรง ผมจะตอบคำถามอย่างไร ถ้าผมมาสาบานตน แล้วผมอ่านรัฐธรรมนูญผมก็เข้าใจ แล้วผมมาเซ็นแก้ไขมาตรา 112 แม้ว่า แนวความคิดทางกฏหมาย ผมก็มีความรู้อยู่บ้างว่า มุมมองเป็นแบบไหน แต่สรุปคือผมไม่เซ็น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่มี 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่าไม่ทำตามมติพรรคก้าวไกลนั้น ในช่วงบ่าย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า [ ส.ส. ต้องเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร มิใช่ “พนักงานของรัฐ” ] สถาบันการเมือง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. ที่มีอำนาจอยู่ ต้องมีความรับผิดชอบในการนำประเด็นไปทำต่อ จะช้าเร็ว-มากน้อย ก็ว่ากัน แต่ต้องไปขยับ

อย่างน้อยที่สุด คือถ้าคุณเห็นว่าคนมาชุมนุม เขาเสียสละโดนคดีกันมาก ติดคุกทั้งชีวิต นับห้วงชีวิตอายุของคนคนหนึ่งอาจจะติดคุกยังไม่พอกับจำนวนคดีที่โดน อย่างน้อย ๆ 3 ประเด็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็ต้องขยับไปในแนวทางนี้

ถ้า ส.ส. ไม่ขยับเลย จะตอบเยาวชนประชาชน-อนาคตของประเทศ จะเป็นความหวังให้เขาได้อย่างไร ในขณะที่คนจำนวนมากไปเรียกร้อง แต่ถ้าวันหนึ่งเขาสิ้นหวังกับพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้แทนราษฎร คราวนี้ระบบการเมืองจะปั่นป่วนโกลาหล

ทุก ๆ วินาทีที่อยู่ในสภา ทุกจังหวะโอกาสที่มี ควรจะต้องขับเคลื่อนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะไม่สำเร็จ แต่คือเมล็ดพันธุ์ ขอให้ได้ขยับ ภารกิจสำคัญของผู้แทนราษฎรคือเรื่องแบบนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ผู้ที่ได้เป็น ส.ส. ไม่ควรคิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” เมื่อเป็นแล้วก็ติดใจหลงใหลต้องเป็นอีก จนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลยเพื่อ “ราษฎร” เพราะเกรงว่าจะถูกกลไกรัฐเข้าทำลายจนตนเองต้องถูกขับออกจากการเมือง

ถ้า ส.ส. คิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” ต้องเป็นต่อไปเรื่อย ๆ เขาจะขาดความเป็นอิสระ ขาดความกล้าหาญ และสยบยอมต่อกลไกรัฐ ไม่กล้าท้าทายปฏิรูปเรื่องใหญ่ ๆ ในท้ายที่สุด ส.ส. ก็จะกลายเป็น “พนักงานของรัฐ” ไป

หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพและอำนาจประชาชน กฎหมายที่แปลง “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ให้กลายเป็น “ไพร่” แล้ว ส.ส. ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเท่านั้น

เมื่อ ส.ส. ถูกทำให้เป็น “พนักงานของรัฐ” ไม่ใช่ “ผู้แทนประชาชน” แล้ว กลไกรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ได้ครอบงำเบ็ดเสร็จ เมื่อสถาบันทางการเมืองที่ถืออำนาจรัฐไม่อาจสนองตอบความต้องการประชาชนได้ เมื่อนั้น “ประชาชน” จักปรากฏกายขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงกันเอง