ประยุทธ์ ตอบ 13 คำถาม วัคซีนเอื้อกลุ่มทุนบางราย-สยามไบโอไซเอนซ์หรือไม่

คำต่อคำ ประยุทธ์ ตอบ 13 คำถาม วัคซีนเอื้อกลุ่มทุนบางราย-สยามไบโอไซเอนซ์หรือไม่

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องในหัวข้อ “วัคซีนโควิด-19 ที่ต้องปลอดภัยและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม” โดยเป็นตอบข้อสงสัย-ข้อกังขาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีน-19 การสนับสนุนงบประมาณให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca แผนการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนล่าช้า รวมถึงคำถามเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายที่มีมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยใช้เวลาในการตอบทุกคำถาม-คำตอบเป็นเวลาความยาว 19.09 นาที

-สาเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม และแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยมีความล่าช้าเกินหรือไม่ ในอนาคตประเทศไทยมีแผนแจกจ่ายวัคซีนระยะยาวอย่างไร

ความพยายามในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ริเริ่มในเดือนธันวาคม 2563 ภายหลังเห็นเงื่อนไขต่างๆ จากผู้ผลิตวัคซีนและการเข้าร่วมโครงการ COVAX เป็นการจองวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบผลทดลองเฟสสาม คือ การทดลองในมนุษย์ ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีกลไกจัดหาวัคซีน มีเงื่อนไขในการจ่ายเงินก่อน โดยมีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีนหากการวิจัยล้มเหล

“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค ได้ประสานหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ ได้แก่ กฤษฎีกา อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ได้รับหนังสืบตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่า ไม่สามารถจัดซื้อได้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ได้ จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 18 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงทางวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพื่อให้สามารถจองวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้าได้ตามกฎหมาย”

แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มีการเตรียมการไว้เพื่อกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มประชากรตามลำดับความสำคัญที่ต้องสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่จะส่งมอบ เพราะจองไปเท่าไหร่ก็ตาม ไม่ได้มาพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนมีทั้งรายวัน รายเดือน รายปี และเป็นความต้องการของหลายประเทศเที่ยวโลกในขณะนี้ด้วย 

Advertisment

“เข้าใจตรงกันหรือเปล่า”

-มีการกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายไม่เหมาะสมหรือไม่

การจัดซื้อวัคซีนเป็นการพิจารณาตามคุณลักษณะของวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ รูปแบบการวิจัยและพัฒนา คุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงระยะเวลาในการส่งมอบ การบริหารวัคซีนที่ใช้ในวงกว้าง การจัดเก็บ การขนส่ง การให้บริการในการฉีด ประโยชน์ระยะยาวและความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ เช่น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาเพื่อต่อยอดภายในประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจจะเกิดโรคระบาดอื่นได้ตลอดเวลาในประเทศไทยและโลก จึงต้องเตรียมการไว้วันหน้า

-สาเหตุใดรัฐบาลจึงไม่มีการจัดซื้อวัคซีนหลายบริษัท เน้นซื้อ 2 บริษัท คือ บริษัท AstraZeneca และ บริษัท Sinovac เท่านั้น ถือเป็นความประมาทของรัฐบาลหรือไม่ 

-ถ้าไม่มีการตรวจสอบ คัดกรอง ติดตามและประเมินผลจะเป็นการประมาทมากกว่า เพราะจะมีคนรับผลกระทบจากความเสี่ยงสูงมาก การจองวัคซีนโควิด-19ล่วงหน้าเป็นการแบกรับความเสี่ยง ซึ่งการที่เราจองซื้อวัคซีนของ AstraZeneca เป็นบริษัทแรกนั้น ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับการประกาศผลวัคซีน 3 บริษัทในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ Pfizer และ Moderna และ AstraZeneca ทำให้เราคาดการได้ว่า เราจะมีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่จะทยอยประกาศความสำเร็จในการวิจัย โดยที่เราต้องมีข้อมูลในการจองซื้อวัคซีนในประเทศ ไม่ได้แบกรับความเสี่ยง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผลในการป้องกัน การบริหารจัดการวัคซีนบางชนิด ที่อาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น อุณหภูมิ การจัดเก็บ การขนส่ง ซึ่งอาจจะเป็นภาระในการทำงานของเจ้าหน้าที่ 

Advertisment

-การคัดเลือกบริษัทเอกชนที่รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนมีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร มีสัญญาจ้างและแผนการดำเนินการอย่างไร

เราได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติประเมินศักยภาพในการผลิตวัคซีนทุกแห่ง มีคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเสนอของเอกชน ก่อนให้กรรมการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบ ในส่วนงบประมาณใช้จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของในแผนงานด้านสาธารณสุข โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลั่นกรอง ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

-แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากร ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนได้ และไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริงหรือไม่

วันนี้ประเทศไทย จัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ วันนี้ได้มาเท่าไหร่ก็ฉีดเท่านั้นก่อน แต่ไม่ได้หยุดที่จะหายี่ห้ออื่นเพื่อจัดหาเพิ่มเติม วันนี้เราจัดหาได้ 63 ล้านโด๊ส ครอบคลุมประชากร 31.5 ล้านคน และจัดหาเพิ่มเติมได้อีกตามระยะเวลาเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ 

“กราบเรียนให้ทราบด้วยแล้วกัน ไม่ใช่ว่า เออ ไม่คิดอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรต่อเลย คิดตลอดเวลานะครับ”

และถ้าบริษัท AstraZeneca ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการอย่างไรต่อไป  คำตอบของผม คือ ว่า การจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถทำได้ และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่ AstraZeneca สามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งการผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งหนึ่งเท่านั้นของบริษัทนี้ ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงอีกทางหนึ่งด้วย 

-สาเหตุใดจึงไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 แทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ต้องทำโรงงานวัคซีนให้พร้อมก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน กว่าจะผลิตวัคซีนได้จริง

“เข้าใจผิดหรือเปล่า องค์การเภสัชไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิด virus vector ได้ และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้รอสร้างโรงงานให้พร้อม เวลาที่รออยู่ คือ รอเวลาผลิตจริงตามมาตรฐานของ AstraZeneca ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนโดยอย.ไทย และเตรียมความพร้อมทั้งหมด ซึ่งวันนี้พร้อมแล้ว เมื่อได้วัคซีนมาก็ดำเนินการได้ทันที เราจะเป็นสายการผลิตหนึ่งในประเทศไทยและในอาเซียน และทีบริษัทอื่น ๆ ที่ร่วมกับ AstraZeneca ในภูมิภาคอื่นและประเทศอื่นอีกด้วย เป็นยอดรวมของ AstraZeneca ที่มีการสั่งจองจากทั่วโลก”

-สาเหตุใดจึงให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีผลขาดทุน 581 ล้านบาท ผูกขาดผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยเพียงรายเดียว และจะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลาหรือไม่ 

“ต้องเข้าใจนะครับว่า การจะเอาวัคซีนโควิด-19 มาผลิตในประเทศเอง ขึ้นอยู่กับ AstraZeneca ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะเป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมมือกันกับ AstraZeneca ซึ่งพิจารณาจากความสามารถ ศักยภาพบุคลากรและเครื่องมือ เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับ AstraZeneca ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม แล้วบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ตั้งมาเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงตั้งไว้เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีวัคซีนที่จำเป็น ไม่ได้หวังผลกำไร กำไร คือ ประชาชนได้ประโยชน์ จะขาดทุนหรือกำไรอย่าเอาตรงนั้นมากังวล รัฐบาลได้ให้หลายบริษัทมาเสนอแล้ว แต่ AstraZeneca เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ไปล็อคไม่ได้อยู่แล้ว ขอให้เข้าใจด้วย”

-บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลงทุนผลิตวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับบริษัท AstraZeneca และใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต แต่เหตุใดที่วัคซีนที่ประเทศไทยได้รับจึงมีราคาสูง เท่ากับราคาที่บริษัท AstraZeneca ขายให้กับประเทศที่ไม่ได้ร่วมลงทุน 

“อันนี้ เป็นเรื่องของบริษัท AstraZeneca เป็นผู้กำหนดราคานะครับ เขาพิจารณาจากต้นทุนการวิจัย การผลิต และยึดนโยบายราคาเดียวในทุกประเทศ ย้ำว่าต้องอยู่ในซัพลายเชน ซึ่งผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ของประเทศไทยซึ่งได้รับประโยชน์มากอยู่แล้วในการได้เทคโนโลยีการผลิตที่จะมีอยู่ในประเทศไทยไปตลอด”

-เมื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 แล้ว สิทธิบัตรวัคซีนจะเป็นของบริษัทเอกชนทั้งหมดหรือไม่ และสัญญาร่วมทุนกำหนดให้บริษัทเอกชนพิจารณาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสิทธิบัตรวัคซีน ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์หรือ องค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาผลิตในราคาถูกให้กับคนไทยทั่วประเทศหรือไม่ และหากสิทธิบัตรเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเป็นสิทธิของบริษัทเอกชนเท่านั้น การร่วมทุนจะเป็นการสูญเปล่างบประมาณหรือไม่

สิทธิบัตรเป็นของ AstraZeneca ทั้งหมด เราซื้อมาจากเขา ส่วนเทคโนโลยีที่ได้มา เราจะเป็นคนนำความรู้มาพัฒนาผลิตเป็นวัคซีนของเราเองในประเทศ เราต้องมาดำเนินการเอง และพัฒนาวัคซีนอื่น ๆ ไปด้วยในอนาคต 

-หลายคนกังวลต่อผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ 

ผลข้างเคียงจากวัคซีนเกิดขึ้นได้ทุกวัคซีนโตวิด-19 การพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นเหตุผลหนึ่ง หรือ ความปลอดภัยจากการทดลองวัคซีนระยะที่สามในมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานด้านความปลอดภัย เช่น อย. กรมวิทยาศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ตามมาตรฐานการให้วัคซีนที่ดี

-รัฐบาลมีการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนหรือไม่

“ผมและรัฐบาลไม่ได้กีดกัน รัฐบาลโดย อย.ยินดีให้บริษัทมาขอขึ้นทะเบียน โดยเปิดช่องทางพิเศษ ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย และได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 1 ราย คือ บริษัท AstraZeneca ประเทศไทย ที่เหลือก็ยื่นมาสิครับ ถ้าเข้ากติกาและหลักเกณฑ์ที่กล่าวไป ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดในระยะต่อไป”

-ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องฉีดทุกคนหรือไม่

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องกระตุ้นคนคนนั้นให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานได้หรือไม่ 95 % บางที 100 % ด้วยซ้ำเกือบทุกวัคซีน  แต่ผมคิดว่าไม่พอ  เพราะการมีภูมิต้านทานก็ใช่ว่าจะป้องกันโรคได้ หลักการวัคซีนเหมือนกัน เช่น การทดลองฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ฉีดแล้วต้องติดตามผลอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลสุดท้ายว่าสามารถป้องกันได้จริง ๆ แต่วันนี้เรารอไม่ได้ เพราะมีการระบาดจำนวนมาก มีคนตายทั่วโลกเป็นล้านคน เพราะฉะนั้นเราจึงมีช่องไว้ว่าในกรณีที่มีการระบาดเยอะมาก ๆ เราเรียกว่าการอนุมัติแบบฉุกเฉิน ฉีดไปก่อนและต้องเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ หากมีปัญหาก็แก้ไขไป 

“วัคซีนที่ออกมาทั้งหมดนี้ ผมจะพูดให้ชัดเลยว่า ผลยังไม่สามารถบอกได้ว่าป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ เพราะต้องรอให้ครบ 1 ปี แต่ตอนนี้เราผลเบื้องต้นว่า อย่างน้อยผลข้างเคียงยังน้อย ยอมรับได้ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดไปล้านคน แต่มีคนตายเพียง 1.1 คน เราไม่อยากให้มีใครตายสักคน”

-กลุ่มไหนควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนหลัง

เราต้องดูตามปริมาณวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับมา จากการสั่งจองมา ทยอยมา 26 ล้านโด๊ส บวกกับ 35 ล้านโด๊ส มันก็อาจจะมาจากการผลิตในประเทศด้วย และต่างประเทศด้วย แม้กระทั่งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ก็ต้องผลิตทยอยออกมาเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี  

ส่วนที่ฉีดก่อนมี 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่ 2 คนที่มีโรคร่วมเบาหวาน ความดัน กลุ่มที่ 3 ผู้สูงวัย โดยเฉพาะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย และความเสี่ยงในเรื่องพื้นที่ เช่น สมุทรสาคร และต้องครอบคลุมไปถึงเรื่องแรงงานและประชาชนในพื้นที่ด้วย เป็นแผนขั้นต้นและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น จังหวัดท่องเที่ยวจำเป็นหรือไม่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนต้องการหมด แต่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนวัคซีนโควิด-19 ต้องคิดใคร่ครวญให้ดีว่าจะเชื่อใคร ผมเชื่อว่าวัคซีนเป็นความหวัง แต่กว่าวัคซีนจะผลิตและฉีดให้คนทั้งโลกได้ต้องอาศัยอย่างน้อย 2 ปี    

“ขอให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ได้กำหนดไปแล้ว ไม่มีใครอยากทำให้ท่านลำบาก เดือดร้อน แต่เมื่อมีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน ต้องร่วมมือกัน ไม่งั้นไปไม่ได้ทั้งหมด”