ที่มา #saveบางกลอย หลากเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์อยากให้เราเข้าใจ

ที่มา #saveบางกลอย
แฟ้มภาพจาก ข่าวสด

ทำความเข้าใจ ที่มาแฮชแท็ก #saveบางกลอย ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งในทวิตเตอร์ และอีกหลากหลายเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการให้เราเข้าใจ 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ภาคี saveบางกลอย ประกาศนัดชุมนุมด่วน เวลา 17.00 น. บริเวณแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ หลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิกำลังกับเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคง ทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นไปบนพื้นที่บางกลอยบน ในยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการลงนามร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากบางกลอย จะไม่มีการคุกคามพี่น้องบ้านบางกลอย

“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสพาผู้อ่านไปย้อนที่มา #saveบางกลอย ซึ่งปรากฏในโลกโซเชียลมาหลายครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อเรียกร้องเรื่องที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มม็อบเฟสต์ เผยแพร่ 6 เรื่องที่ชาวบางกลอยอยากให้เราเข้าใจ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ดังนี้

บางกลอยคืออะไร ?

บางกลอย คือ หมู่บ้านอพยพชาวกะเหรี่ยง ตั้งอยู่ใน “ใจแผ่นดิน” ใจกลางป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมที่พวกเขาอยู่อาศัยมานานกว่า 100 ปี ชื่อใจแผ่นดินปรากฏครั้งแรกในแผนที่ทหารเมื่อปี พ.ศ. 2455 ชาวบางกลอยมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำไร่หมุนเวียน ก่อนที่จะมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก 30 ปี และ 50 ปี ก่อนมีกฎหมายอุทยาน บ้านใจแผ่นดิน ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปี 2524 ในสภาพป่าที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์

ทำไมชาวบางกลอยถึงโดนไล่ออกจากบ้านที่ใจแผ่นดิน ?

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย (ใจแผ่นดิน) ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าว เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำลายป่าต้นน้ำ เป็นอันตรายต่อความมั่นคง โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสโต้แย้งและพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้รับพิสูจน์สัญชาติ และได้สิทธิการการเป็นคนไทย

ทำไมถึงต้องกลับบ้านที่ใจแผ่นดิน ?

ในปี 2539 ชาวกะเหรี่ยงจากใจแผ่นดินถูกอพยพลงมาที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง โดยได้รับคำสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินให้ทำกิน ส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน แต่ปลูกข้าวไม่ได้ผลหรือที่ดินเป็นหิน มีชาวบ้านอีกส่วนไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทั้งที่ดินทำกินและอยู่อาศัย และเข้าไม่ถึงโครงการช่วยเหลือ บางส่วนตัดสินใจกลับคืนใจแผ่นดิน แต่บางส่วนอดทนอยู่ที่บางกลอยล่าง โดยการไปรับจ้างแรงงาน แลกกับรายได้อันน้อยนิด ไม่พอกับการซื้อข้าวกิน

พวกเขาอดทนใช้ชีวิตด้วยความทุกข์ยากมากว่า 20 ปี กระทั่งล่าสุด ชาวบ้าน 36 ครัวเรือน 70 กว่าชีวิต ตัดสินใจกลับใจแผ่นดิน เพื่อปลูกข้าว ทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ และหนีความยากไร้หลังตกงานจากการแพร่ระบาดของโควิด 19

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความอธิบายเรื่อง #saveบางกลอย เอาไว้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 เผยว่า “ปู่คออี้” คือ ผู้อาวุโสชาวกระเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) เสียชีวิตเมื่อปี 2561 ขณะมีอายุ 107 ปี ครอบครัวของปู่คออี้ คือชาวบ้านบางกลอย ปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาใบค้อ ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว พริก เผือก มัน ผัก มีสวนทุเรียนในป่า จับปลา ใช้ชีวิตแบบกลมกลืนกับป่า-ธรรมชาติ ติดต่อกับภายนอกน้อยมาก

ในขณะที่ “บิลลี่ พอละจี” หลานชายปู่คออี้ ซึ่งเป็นคนหลักของการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านบางกลอยหายตัวไป เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ชาวบ้านเชื่อว่า “บิลลี่ ถูกอุ้ม”

การต่อสู้ที่ผ่านมาชาวบางกลอยต้องแลกกับอะไร ?

ในปี 2554 ชาวกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินถูกกวาดล้างลงมาอยู่ที่บางกลอยล่าง ที่พักและยุ้งข้าวถูกเผาทำลาย พวกเขาไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่ดินอาศัย พวกเขาพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรม และขอกลับไปยังใจแผ่นดิน แต่กลับได้รับเพียงความหวาดกลัว จนไม่กล้าปริปากเรียกร้องความเป็นธรรม

ชาวบางกลอยต้องการอะไรจากรัฐบาล?

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยากให้รัฐบาลคืนสิทธิในบ้านเกิดที่ใจแผ่นดิน ให้มีสิทธิในการทำไร่นาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา

ทำไมต้อง #saveบางกลอย ?

#saveบางกลอย เป็นการต่อสู้ไม่ใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงบางกลอย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อคืนสิทธิและความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกกระทำจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลุ่มคนชายขอบไร้อำนาจในสังคม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และบูรณาการกฏหมายมาใช้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

โพสต์โดย Mob Fest เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2021

 

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์แนะนำรัฐบาลไว้ด้วยว่า เฉพาะหน้ารัฐไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ต้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 และแน่นอนว่านั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐควรต้องพยายามหาทางออกในทางนโยบายเพื่อให้ชาวบ้านได้กลับคืนสู่ถิ่นเดิม คือบ้านบางกลอยบน ใจแผ่นดิน

ระยะยาว รัฐควรต้องคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและการทำไร่หมุนเวียน ควรรีบผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในเขตป่าและอุทยาน สามารถดำรงวิถีชีวิตของพวกเขาต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับชาติพันธุ์อื่นๆในผืนแผ่นดินไทย

“ขอร่วมให้กำลังใจพี่น้องบางกลอยและขอยืนยันว่าชาติพันธ์กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ มีเลือดเนื้อ ความเชื่อและจิตวิญญาณเช่นเดียวกับผู้คนในพื้นราบ เชิญชวนพี่น้องประชาชน คิดตามให้กำลังใจพี่น้องบางกลอยด้วยนะครับ” นายรังสิมันต์โพสต์ในตอนท้าย

#saveบางกลอย คืออะไร ?
เกิดอะไรขึ้นที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
.
พี่น้องที่รักครับ ช่วง 2-3…

โพสต์โดย Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2021