ศาลเลื่อนอ่านฎีกา คดี 9 แกนนำพันธมิตรชุมนุมดาวกระจาย ไป 24 มิ.ย.

ศาลอาญาเลื่อนอ่านฎีกาคดี 9 แกนนำพันธมิตรชุมนุมดาวกระจาย ไล่รัฐบาลสมัคร ปี 2551 นัดอ่านอีกครั้ง 24 มิ.ย.

วันที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 11.00 มติชนรายงาน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 กรณีที่มีการรวมตัวชุมนุมต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

อัยการโจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 จำเลยทั้ง 9 คน ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้นำกลุ่ม พธม. จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ปิดการจราจรใน ถ.ราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร. เป็นที่ชุมนุมประท้วง ไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย”

นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ ส่วนบนเวทีปราศรัย จำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัครตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนกระทำการปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ “ดาวกระจาย” ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเป็นการฟ้องจำเลยซ้ำกับคดี พธม. บุกรุกทำเนียบรัฐบาล หมายเลขดำ อ.4925/2555 อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 7-9 ไว้ก่อนมีกำหนด 2 ปี

ADVERTISMENT

ต่อมาศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2562 ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเห็นว่าอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น ไม่ได้กระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 215 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความกรณีผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงาน จากการที่เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อเวทีและเต๊นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุม

กรณีดังกล่าวไม่ได้เริ่มจากกลุ่มผู้ชุมนุม และที่มีการตรวจค้นพบขวานและเหล็กแป๊บในพื้นที่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมขนย้ายเต๊นท์และข้าวของออกไปหมดแล้ว จึงค่อนข้างผิดวิสัย อีกทั้งก็ไม่ได้ค้นพบจากตัวผู้ชุมนุม ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ของผู้ชุมนุมเอง เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม.เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ADVERTISMENT

ในวันนี้ มีเพียงนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตร จำเลยเดินทางมาศาล

นายไชยวัฒน์ แนวร่วม พธม. เปิดเผยก่อนขึ้นห้องพิจารณาว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ประกอบด้วย 5 แกนนำ 1 ผู้ประสานงาน และ 3 แนวร่วม ซึ่งตนอยู่ในกลุ่ม 3 คนที่เป็นแนวร่วม ส่วนศาลชั้นต้นได้รอการกำหนดโทษ 3 แนวร่วม ไว้ 2 ปี วันนี้ไม่ได้มีความกังวลอะไร เพราะอยู่ในชั้นฎีกาถือว่าคดีจะสิ้นสุดแล้ว

หากศาลฎีกาตัดสินให้ต้องจำคุกก็แค่ขึ้นรถเรือนจำ ไม่ได้เป็นปัญหา ตนเคยติดคุกมาแล้ว 2 ครั้ง แต่หากศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์คือยกฟ้อง ก็นั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน ทั้งนี้ สำหรับคดีอื่นที่เหลือ คือคดียึดสนามบิน ศาลแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแกนนำ 30 กว่าคน กับกลุ่มแนวร่วม 60 กว่าคน ตนอยู่ในกลุ่มแนวร่วม ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายวันที่ 12 พ.ค. นี้ จากนั้นก็มีอีก 29 นัด เพื่อสืบพยานจำเลยในเดือน ส.ค. ซึ่งนัดล่วงหน้าไว้ทั้งหมดแล้ว จากนั้นก็จะมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า ยังไม่สามารถส่งหมายนัดมาฟังคำพิพากษาให้กับ นายพิภพ จำเลยที่ 3 และ นายเทิดภูมิ จำเลยที่ 9 ได้ ด้วยเหตุจำเป็นดังกล่าว ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.