ด่วน! ประวิตร ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 3 เดือน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประวิตรเคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 64-19 ก.ย. 64 ไฟเขียวปรับลดพื้นที่ อ.กาบัง ยะลา

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) โดยมีวาระเป็นการขยายการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน อย่างไรก็ดีจะมีการปรับลดการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่บางพื้นที่

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า รายงานผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้วง 20 มี.ค. 64-18 พ.ค. 64 ภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น เหตุการณ์การก่อเหตุความรุนแรง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการปฏิบัติงานของภาครัฐ และให้ความร่วมมือด้วยดี ที่ผ่านมา

จากนั้น กบฉ.ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 เสนอให้ปรับลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว ได้แก่ พื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา เป็นไปตามแผนงานปรับลดพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเห็นชอบให้เพิ่มเติมตัวชี้วัด ความพึงพอใจของประชาชน ต่อเศรษฐกิจ/สังคม ควบคู่ สถิติทางคดี

พร้อมทั้งเห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อ.แม่ลาน, อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง, อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก, อ.สุคิริน, อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 64-19 ก.ย. 64 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความปลอดภัยชีวิต และทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

พล.อ.ประวิตรได้กำชับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้เข้มงวดการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิด กม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกนายที่เสียสละ ทุ่มเทการทำงาน ที่ผ่านมา จนสามารถปรับลดพื้นที่ประกาศฉุกเฉินบางส่วนอย่างได้ผล ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล และขอเป็นกำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ มีความปลอดภัยจากภารกิจและโควิด-19 กันทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 สำหรับการใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 387,909 ล้านบาท ในส่วนของแผนขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 7,144 ล้านบาท 2.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,147 ล้านบาท 3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในส่วนของแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,424 ล้านบาท

4.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จำนวน 92 ล้านบาท จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส จำนวน 87 ล้านบาท ปัตตานี จำนวน 61 ล้านบาท ยะลา จำนวน 54 ล้านบาท และสงขลา จำนวน 146 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นราธิวาส จำนวน 103 ล้านบาท อบจ.ปัตตานี จำนวน 137 ล้านบาท อบจ.ยะลา จำนวน 109 ล้านบาท และ อบจ.สงขลา จำนวน 131 ล้านบาท ไม่รวมเทศบาล

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา