กรณ์ ข้ามชอต เปิดประเทศ 120 วัน ปฏิรูปราชการก่อนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

กรณ์ หนุนเปิดประเทศ 120 วัน ชี้วัคซีนเป็นตัวชี้ขาด แนะปฏิรูประบบราชการ-กิโยตินกฎหมาย เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ปรับทัศนคติ สร้างโอกาสธุรกิจ New-S-curve ป้องกันสมองไหล

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก หัวข้อ “โลกกำลังอยู่ในช่วงผันผวนรุนแรง ถ้าระบบราชการยังช้า ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!” โดยยกงานเขียนของนาย Bill Gates เคยเตือนภัยต่อโลกไว้ก่อนที่จะเกิดแพร่เชื้อโควิด 2 ปี ว่า จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นแน่นอน และภาวะโลกร้อน จะมีผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่านี้หลายเท่าว่า จึงต้องเตรียมแผนรองรับความเปลี่ยนแปลง

นายกรณ์กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไปเมื่อวันก่อนว่า อีก 120 วัน จะเปิดประเทศนั้น ก็เพราะมันมีความเป็นไปได้ ตัวแปรสำคัญ คือ มีวัคซีนที่สามารถผลิตได้เร็ว ๆ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมหัศจรรย์มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่จะใช้เวลา 3-4 ปี หรือมากกว่านั้น ทำให้มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ของภาคเอกชน หากเกิดการแพร่เชื้อชนิดใหม่ขึ้นอีก โลกก็น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะค้นหาวัคซีน เพื่อมาต่อกรกับไวรัสได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน 6 เดือน

“หมายความว่าต้องมีโครงสร้างและองคาพยพที่มีความฉลาด ยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง แต่ระบบบริหารจัดการระดับประเทศของเรา โดยเฉพาะระบบราชการที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนาน”

นายกรณ์กล่าวว่า จะหวังให้ระบบราชการปฏิรูปตัวเองคงเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าคนทำงานหรือข้าราชการดี ๆ เก่ง ๆ มีประสิทธิภาพ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เพราะอำนาจของหน่วยราชการ มาจากการรับหน้าที่ด้วยกฎหมาย ดังนั้นตราบใดที่กฎหมายยังกำหนดว่าขั้นตอนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แม้บางอย่างยังมีความจำเป็นต้องมีขั้นตอนในระบบราชการ แต่หากจะนำไปสู่การยกระดับให้ระบบราชการมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ต้องปฏิรูปกฎหมาย Regulatory Guillotine เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็เคยพิจารณาเรื่องนี้ แต่ก็เงียบหายไป เพราะขาดแรงผลักดัน

นายกรณ์ กล่าวว่า ในทางเศรษฐกิจ ถ้าเราย้อนกลับไปดูวิกฤตต้มยำกุ้ง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันคือตัวเปลี่ยนในหลาย ๆ เรื่องในภูมิภาคเอเชีย ทั้งไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แต่ละประเทศ มีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยปรับน้อยมาก สิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบโครงสร้างที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งคือ การลอยตัวค่าเงินบาท แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ได้เติบโตด้วยนวัตกรรม หรือประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น และไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่

“สิ่งที่ปรับคือ การเพิ่มความสามารถการแข่งขัน แต่ของไทย บริษัทที่มีใบอนุญาตโตวันโตคืน ส่วนแบ่งตลาดก็มากขึ้น แต่บริษัทเล็กจะไม่มีโอกาสเติบโตมาแข่งขันในฐานะแรงดันหลักทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ เพราะขาดนวัตกรรม สุดท้ายขาดการลงทุน โดยการลงทุนจากต่างประเทศ FDI ของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง การลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจากต่างประเทศถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์บ้านเราไปแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท”

นายกรณ์กล่าวต่อไปว่า คือสาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นของเราก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม บ่งชี้ให้เห็นว่าต่างประเทศมองว่าแนวโน้มโอกาสทำกำไรในประเทศอื่น สูงกว่าการลงทุนในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจให้คนกลับมาลงทุน แต่เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้สึกว่าอยากจะมาลงทุนที่นี่

นายกรณ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่จะดึงดูดความสนใจหรือกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น ต้องเริ่มที่ปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีทัศนคติในทางบวกมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการแข่งขัน ต้องสร้างโอกาสให้ธุรกิจใหม่ (New-S-curve) จึงต้องกลับมาที่เรื่องทัศนคติ

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ออกประกาศสกัดดาวรุ่ง การนำเหรียญคริปโทฯ พวกโทเค็น ประเภทต่างๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน มาจดทะเบียน ซึ่งเป็นประกาศที่สร้างความตกใจให้กับทุกคนที่อยู่ในวงการคริปโทฯ เพราะไม่ได้ส่งผลทางบวกกับใคร ถ้าเป้าหมายเพียงเพื่อปกป้องนักลงทุน ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่านักลงทุน ถ้าเขาอยากลงทุนในโลกคริปโทฯเขาสามารถที่จะลงทุนข้ามชายแดนได้โดยสะดวกอยู่แล้ว ผลคือทำให้แนวโน้มการพัฒนาทักษะหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในประเทศนั้นมันจะหมดไป เมื่อถูกปิดโอกาสแบบนี้ คนเก่ง ๆ ก็จะย้ายไปทำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์แทน”