ประยุทธ์ โชว์ ใส่เงินเข้ากระเป๋าตรง 8.5 แสนล้าน 42.3 ล้านคน

ประยุทธ์ โชว์แผนกู้วิกฤตโควิด ทุ่มมาตรการการเงิน-การคลัง ใส่เงินเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรงแล้ว 8.5 แสนล้านบาท 42.3 ล้านคน-ทำต่อเนื่อง ก้าวกระโดดขนาดครั้งประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีนายกฯคนไหนเคยช่วยประชาชนแบบนี้

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วันที่สองว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตระดับโลก ข้อมูลจาก WHO ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกสูงกว่า 216.9 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 4.5 ล้านคน แรงงานทั่วโลกตกงานจำนวนมา

จากมาตรการจำกัดการเดินทางและจำกัดกิจกรรมเสี่ยงต่าง ๆ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การออกมาตรการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ การเว้นระยะห่างทางสังคม การจำกัดกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปทั่วโลก และเป็นปัญหาที่ทุกประทศทั่วโลก ต่างต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สาธารณสุขนำหน้าเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ การเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างหนักและมากกว่าหลายประเทศในโลกที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวเคยเป็นฮีโร่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ ในปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ถึง 20% ของ GDP และมีการจ้างงานกว่า 8.3 ล้านตำแหน่ง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้มหาศาล ซึ่งการท่องเที่ยวได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้ประโยชน์ มีการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างกิจการที่เกี่ยวข้องขึ้นมากมาย

“แต่วิกฤตครั้งนี้ส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อการท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดเหลือเพียงประมาณ 6.7 ล้านคนในปี 2563 และคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านคนในปี 2564 อันเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ด้านสาธารณสุขที่ออกมาเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”

รัฐบาลให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขนำหน้าเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาในทุก ๆ ด้าน แต่มุ่งเน้นไปที่ด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับต่างประเทศและค่าเฉลี่ยของโลก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

 

รับปากจะทำให้ดีกว่านี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยบริหารสถานการณ์โควิดได้ดีไม่แพ้ประเทศอื่นในโลก เห็นได้จากอัตราการติดเชื้อ (% ติดเชื้อต่อประชากร) – ณ วันที่ 31 สิงหาคม ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.77% ซึ่งมีอัตราผู้ติดเชื้อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 2.97% ของประชากร อัตราการเสียชีวิต (% เสียชีวิตต่อติดเชื้อ) – ณ วันที่ 31 สิงหาคม ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.95% ซึ่งมีอัตราผู้เสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 2.07% ของผู้ติดเชื้อ

“แน่นอนว่ารัฐบาลต้องการทำให้ดีกว่านี้ การสูญเสียประชากรแม้เพียง 1 คน ผมก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดดังกล่าวก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงาน หรือทำงานได้ไม่ดีนั้น ไม่เป็นความจริง”

รัฐบาลได้ใช้นโยบายการเงินการคลังขนาดใหญ่มาเยียวยาและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า รัฐบาลได้เน้นมาตรการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวจึงทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและนำเข้า เหลือเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ช่วยประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง

World Bank-IMF ยกความเชื่อมั่นไทย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปี 2563 เศรษฐกิจไทย มี GDP ติดลบ -6.1% โดยติดลบในทุกภาคส่วน ยกเว้นการบริโภคของภาครัฐที่โต +0.9% และการลงทุนของภาครัฐที่โต +5.7% ซึ่งมาช่วยพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบในภาคอื่น ๆ มาตรการทางการเงินการคลังของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างมากในภาวะวิกฤตเช่นนี้ และรัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี

“ผมขอยกเอารายงานขององค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร ที่มีความน่าเชื่อถือระดับโลก คือ 1.รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ของธนาคารโลก หรือ World Bank กับ 2.รายงาน Fiscal Monitor ฉบับเดือนเมษายน 2564 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มาเป็นตัวอย่างประกอบว่ารัฐบาลดำเนินการได้ดีอย่างไร”

โดยรายงานของธนาคารโลกได้ระบุว่า การระบาดหลายระลอกของโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แต่ก็ได้ความต้องการสินค้าและบริการของตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว พร้อมกับมาตรการช่วยเหลือทางการคลังขนาดใหญ่ของไทยมาช่วยไว้ ทั้งมาตรการให้เงินเยียวยาประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่าง ๆ มาตรการเหล่านี้ช่วยประคับประคองอุปสงค์ของภาคเอกชน และกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อปัญหาความยากจนของประชาชน

รัฐบาลไทยได้ขยายมาตรการการให้ความช่วยเหลือทางสังคมแบบก้าวกระโดด เป็นมาตรการขนาดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ และมีความโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ จาก 0.8% ของ GDP ในปี 2562 เป็น 3.2% ของ GDP ในปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19

รัฐบาลจัดสรรเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่สุด และส่วนใหญ่ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วอย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันอย่างกะทันหันจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งในส่วนของการจ้างงาน รายได้ และความยากจน

สถานะทางการคลังแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ด้านเสถียรภาพทางการคลัง ธนาคารโลกประเมินว่าแม้ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยการกู้เงินเพื่อมาบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นชั่วคราว โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง

ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เป็นเงินตราภายในประเทศ และสภาพคล่องภายในประเทศมีอยู่อย่างเพียงพอที่จะให้รัฐบาลกู้ และหนี้ที่ก่อขึ้นใหม่ก็มีอายุการไถ่ถอนที่ค่อนข้างนาน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศไทย

ในส่วนของรายงาน Fiscal Monitor ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่มีการเก็บสถิติตัวเลขทางการคลัง แบ่งตามลักษณะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น กลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ (Advance Economy) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจรายได้ต่ำ (Low Income Economy) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

แผนที่โลกสีต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงขนาดของมาตรการด้านการคลังของประเทศต่าง ๆ ที่ออกมารับมือกับผลกระทบของโควิด-19 เทียบกับ GDP โดยสีเขียวแก่มีการใช้มาตรการการคลังในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่า 10% ของ GDP / สีเขียว 7.5%-10% ของ GDP / สีเขียวอ่อน 5%-7.5% ของ GDP / สีเหลือง 2.5%-5% ของ GDP และสีแดง ต่ำกว่า 2.5% ของ GDP

หากเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) จะพบว่าไทยใช้นโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ขนาดใหญ่ประมาณ 11.4% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศชิลี และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ใช้นโยบายการคลัง 5.2% ของ GDP และอินโดนีเซีย 4.5% ของ GDP และพบว่าประเทศไทยใช้มาตรการทางการคลังเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับเดียวกันกับกลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ (Advance Economy) เช่น อเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ประเทศที่ใช้นโยบายการคลังใกล้เคียงกับไทย เช่น เยอรมนี 13.6%, อิตาลี 10.9%, เนเธอแลนด์ 10.3%, ฝรั่งเศส 9.6% ของ GDP เป็นต้น

ดังนั้น จากรายงานทั้ง 2 ฉบับ จากองค์กรระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีความเป็นกลางและเชื่อถือได้ ต่างก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้แก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างเต็มที่ ในขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP เฉลี่ยของทั้งโลกแตะระดับ 99% ของ GDP แต่ประเทศไทยยังคงรักษาระดับอยู่ที่ 60% ของ GDP เท่านั้น

เร่งเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ท่านจะเห็นว่า การที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคบริการและการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากต่างประเทศนั้น ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยมากกว่าประเทศอื่น รัฐบาลก็ได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ด้วยทรัพยากรที่มี ซึ่งเทียบแล้วมาตรการการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาของไทยเรายังสูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มเดียวกัน หรือแม้แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และถึงแม้รัฐบาลจะต้องกู้เงินมาเพื่อใช้ดำเนินมาตรการก็ยังรักษาวินัยทางการคลัง มีเพดานหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่มาก แล้วอย่างนี้จะมากล่าวหาผมและรัฐบาลว่าแก้ปัญหาอย่างไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบอีกว่า ที่ธนาคารโลกและ IMF เห็นรัฐบาลไทยใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 นั้น รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินไปโดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเยียวยาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและการดูแลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก โดยตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลใช้มาตรการให้เงินเยียวยาประชาชนโดยตรงไปแล้วหลายโครงการ

โดยการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นระบบถุงเงิน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการเรารักกัน (ม.33) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช็อปดีมีคืน ใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วตรงเป้าหมาย ช่วยให้เม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

“มีการประเมินว่าปริมาณเงินทั้งหมดที่เข้าสู่กระเป๋าประชาชนโดยตรงไปแล้วประมาณ 8.5 แสนล้านบาท ไปสู่มือประชาชนโดยตรงกว่า 42.3 ล้านคน และยังคงทำต่อเนื่อง ซึ่ง 8.5 แสนล้านบาท คือกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ 5% ของ GDP ในประวัติศาสตร์ไทยไม่มีนายกคนไหนช่วยประชาชนแบบนี้ ไม่มีผู้นำคนไหนยอมถูกต่อว่า ว่า “กู้เงินเก่ง” แล้วเอามาใส่มือประชาชนแบบนี้ 42.5 ล้านคน คือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รัฐบาลคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รัฐบาลจึงต้องทำ”

ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต-ไฟแนนซ์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ รัฐบาลได้ออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ (ไฟฟ้า น้ำประปา อินเตอร์เน็ต) ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้ผู้ปกครอง นักเรียน และครู ทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชน

รัฐบาลได้ออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้/ลดภาระหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี หนี้จำนำ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 27.7 ล้านบัญชี สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยลดอัตราดอกเบี้ย ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น การยืดหนี้ ลดค่างวด ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่ง 2 เรื่องหลังนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้มีผลเป็นการถาวร ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนในรัฐบาลไหนใน 90 กว่าปีที่ผ่านมา

ล่าสุดก็ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนเพื่อช่วยลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ 2 เดือน โดยมีนโยบายเพิ่มเติมว่า เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่กับลูกหนี้ในทันที

“จนถึงปัจจุบันได้มีการช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนแล้วกว่า 5.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 1.91 ล้านล้านบาท ในส่วนของลูกหนี้ภาคธุรกิจ ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 8.9 แสนราย ยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 1.94 ล้านล้านบาท”

แก้หนี้ กยศ. 6.4 ล้านราย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. 6.4 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันมียอดหนี้ประมาณ 458,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก้าวหน้าหลายเรื่อง ทั้งการยกเลิกผู้ค้ำประกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 การลดดอกเบี้ย/เงินกู้และเบี้ยปรับการพักชำระหนี้ การชะลอการฟ้อง/บังคับคดีผู้กู้

“รัฐบาลกำลังแก้ไขหนี้สินครู 900,000 ราย ยอดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะนี้ได้ทำไปหลายเรื่อง เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การปรับโครงสร้างหนี้ครู ลดดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ปรับวิธีการหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้ครู ให้เงินเดือนครูเมื่อถูกหักหนี้แล้วยังเหลือใช้ในเรื่องต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน”

ใช้ภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่า

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะยังมีโอกาสเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อีก นโยบายรัฐบาลต้องมีความคล่องตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมและรัฐบาลก็จะยังมุ่งหน้าทุ่มเททำงานต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“ตัวเลขทั้งหมดไม่ว่าด้านสาธารณสุข การใช้นโยบายการเงิน การคลังที่เข้มข้นในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาใหญ่ ส่งผลรุนแรงน้อยกว่าที่ควร จะเป็น ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ ตัวเลขไม่โกหก และองค์กรชั้นนำอย่างธนาคารโลกและ IMF ก็อ้างถึงในทางบวก การใช้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยตรง เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปากท้องของพี่น้องประชาชน และแน่นอนวิกฤตครั้งนี้ใหญ่มากและยังไม่จบ ผมและรัฐบาลจะขอทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถต่อไป”