สมาคมท้องถิ่นค้าน เลือกตั้ง อบต. หวั่นโควิด ขอ “อนุพงษ์” เลื่อนไป ก.พ. 65  

อนุพงษ์เตรียมชงเลือกตั้ง อบต. นายกเมืองพัทยา-ผู้ว่าฯ กทม. เข้า ครม. 7 กันยายน สั่งทุกจังหวัดเตรียมงบฯ 2565 จัดเลือกตั้งกลางวิกฤตโควิด แต่สมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประเทศไทย ขอเลื่อนไปกุมภาพันธ์ 65 หวั่นโควิดระบาดรอบ 6 

วันที่ 6 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะชงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 7 กันยายนนี้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้วในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฯลฯ

ประกอบกับในการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง อบต. กทม. และเมืองพัทยา กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯแล้ว 

อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไว้แล้ว 

จึงได้ตกลงร่วมกันในการเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรกำหนดให้มีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เพื่อเสนอเข้าสู่การประชุม ครม.วันที่ 7 กันยายน 

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่กระทรวงมหาดไทย แจ้งไปยังผู้ว่าทุกจังหวัดให้ เตรียมจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เพื่อเป็นค่าในการเลือกตั้งสถาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ล่วงหน้า 

และกำชับให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล จัดเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับกรณีการจัดการเลือกตั้งแทนตำ แหน่งที่ว่าง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม สำหรับกรณีจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม สมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประเทศไทย โดยนายวิระศักดิ์ ฮาดดา ในฐานะนายกสมาคม ได้ทักท้วงการจัดการเลือกตั้ง นายก อบต.และ ส.อบต. ในปี 2564 โดยระบุเหตุผลว่า ในข้อเท็จจริงการเลือกตั้งท้องถิ่น มีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้สมัครนำญาติพี่น้องกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นการขัดแย้งต่อแนวทางของ ศบค.และแนวทางของนายกรัฐมนตรีที่ได้กำหนดไว้ และหากเกิดการเลือกตั้งตามแนวทางที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ 

อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ที่มีผู้ติดเชื้อระลอกที่ 5 และที่สำคัญรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในไตรมาสแรกไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้ง 

เพราะรายได้ต่าง ๆ ส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลจัดสรรเงินให้ ซึ่งชัดเจนว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงร่วม 2 หมื่นล้านบาท

ทางสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประเทศไทย เล็งเห็นว่าการที่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแนวโน้มทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกที่ 6 โดยจะเกิดจากการที่ประชาชนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างแน่นอน 

“ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนเพื่อชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะกำหนดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ออกไปก่อนจนกว่าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และมีความพร้อมในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น จึงขอให้ทบทวนเลื่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จากเดิมที่กำหนดภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้เลื่อนออกไปเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น” 

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยาเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันได้สำรวจการแบ่งเขตเลือกตั้ง เรื่องงบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ทางกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไว้ล่วงหน้าและทางเมืองพัทยามีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว และในงบประมาณปี 2565 ทางเมืองก็ได้มีการเตรียมงบฯไว้ด้วยเช่นกัน