“พปชร.-ภูมิใจไทย” เจาะซื้องูเห่าอีสาน ตัดกำลัง “เพื่อไทย-ฝ่ายค้าน”

การที่พรรคเพื่อไทย ขับ 2 ส.ส.งูเห่า ออกจากพรรค หนึ่ง ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ สอง พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี

เป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค สูญเสียกำลัง ส.ส.ในเชิงปริมาณ

จาก 212 คน เหลือ 210 คน โดยอัตโนมัติ แม้ไม่มีความหมายโดยพฤตินัย แต่ก็สะท้อนความอ่อนกำลังของฝ่ายค้าน ต่างกับเสียงของพรรคการเมืองฟากรัฐบาลที่มีอยู่ 270 เสียง

ส่วนต่างจำนวนมือระหว่างฝ่ายค้าน-รัฐบาล อยู่ที่ 60 เสียง แม้ว่าบางคราวฝ่ายรัฐบาลจะคุม ส.ส.พรรคเล็กระดับ 1-2 เสียงไม่อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา

งูเห่า 18 ตัวในฝ่ายค้าน

ยิ่งย้อนไปในวันโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านมีงูเห่าที่โหวตไว้วางใจ-งดออกเสียงให้กับนายกฯ และรัฐมนตรี ที่อยู่ในลิสต์ซักฟอกมากถึง 18 ราย (รวมศรัณย์วุฒิ-พรพิมล) ดังนี้

พรรคเพื่อไทย 7 คน 1.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ 2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 4.นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี 5.น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี 6.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 7.นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี

พรรคก้าวไกล 6 คน 1.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล 2.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 3.นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 5.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. (ไม่นับนายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี ที่ระบุว่าติดโควิด)

เพื่อชาติ 4 คน น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ 1 คน นายอนุมัติ ชูสารอ ส.ส.ปัตตานี

ดังนั้น ตัวเลขที่ยกมือ เป็นการแสดงตัว “งูเห่า” ขาประจำ-ชั่วคราว

เท่ากับว่า 6 พรรคฝ่ายค้าน จะเหลือเสียงประมาณ 194-200 เสียงเท่านั้น สาเหตุที่ตัวเลขยังไม่นิ่ง ขึ้นอยู่กับความสำคัญ-ปัจจัยการเมืองในการลงมติแต่ละครั้ง เพราะทุกครั้งมีราคาค่างวดที่ต่างกัน

ส่วนรายของศรัณย์วุฒิ-พรพิมล ถูกอัปเปหิจากพรรคเพื่อไทย แต่ที่สุดแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) กำหนดไว้ชัดว่า จะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน

ทั้งศรัณย์วุฒิ-พรพิมล ไม่ว่า 30 วันแรกจะอ้างเหตุไปอยู่กับพรรคไหนในฝ่ายค้าน แต่สุดท้ายอาจจะลงเอยไปอยู่กับขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรพิมล” การเลือกพรรคใหม่อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่

ศรัณย์วุฒิ ในคาถา ยุทธตู้เย็น

แต่ในรายของ “ศรัณย์วุฒิ” ที่เคยตีจากพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 1 ครั้ง ไปอยู่ใต้ชายคาพรรคชาติไทยพัฒนา ในการเลือกตั้งปี 2557 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วจึงย้ายกลับมาอยู่ในพรรคเพื่อไทย กระทั่งล่าสุดถูกขับออกจากพรรค

ตามข่าว “ศรัณย์วุฒิ” ผูกโยงกับพรรคใหม่ของ “บิ๊กฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกหมายมั่นให้ตั้งพรรคการเมืองเป็นพรรคสำรอง หากเรือพลังประชารัฐล่มสลาย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อยู่เบื้องหลัง ศรัณย์วุฒิในฐานะ “ดีลเมกเกอร์” ชักชวนเพื่อน ส.ส.ย้ายขั้ว

แต่เมื่อ “พรรคบิ๊กฉิ่ง” ยังเพิ่งตั้งไข่ และยังไม่มีสัญญาณจากเบื้องบนว่าจะใช้งานพรรคใหม่หรือไม่ ด้วยความเป็น ส.ส.โซนภาคเหนือ บ่อยครั้งจึงออกงานราษฎร์งานหลวง แนบชิด-เคียงคู่กับ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ อดีตมือบู๊ของพี่โทนี่ “ทักษิณ ชินวัตร”

จึงมีข่าวชอตต่อมาว่า “ศรัณย์วุฒิ” จะไปหลบภัยที่พรรคเพื่อชาติ หนีเส้นตาย 30 วัน ขณะนี้หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ คือ บุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์ พี่สาวของ “ยงยุทธ”

และเพื่อชาติในวันนี้ ก็แสดงตัวเป็น “งูเห่า” ถึง 4 ราย ก่อนหน้านี้ในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี รอบที่ 2 สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคก็เคยโหวตไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

ประกอบกับข่าวการรวมก๊วนตั้งพรรคใหม่ของ “ยงยุทธ” แท็กทีมกับ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ หรือ ผอ.เปิ้ล อดีต ผอ.กองทุนหมู่บ้านคนใกล้ชิด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าก๊วนสี่กุมาร เริ่มหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ อาจกลายเป็นหนึ่งสมการการเมืองที่อยู่คนละฝั่งกับฝ่ายค้านปัจจุบัน

พปชร.-ภท.รุมทึ้ง เพื่อไทย

ยังไม่นับ ประเภท “งูเห่า” ที่ยังไม่เปิดเผยตัว โดยเฉพาะในภาคอีสาน แม้ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.อีสานได้เป็นอันดับหนึ่งถึง 84 ที่นั่ง จากทั้งหมด 116 ที่นั่ง เพราะอุบัติเหตุแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ทำให้ไม่อาจส่งครบทุกเขต ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ 11 ที่นั่ง ภูมิใจไทยได้ 16 ที่นั่ง

แต่ ณ วันนี้ พรรคเพื่อไทยเสียที่นั่งไปให้กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น เขต 7 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ยังไม่พอ อาจจะต้องเสียฐานที่มั่นให้กับพรรคภูมิใจไทยหลายแห่ง

เพราะพรรคภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่มีครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ ชี้แนะอยู่เบื้องหลัง นอกจากพยายามสร้างอาณาจักรบุรีรัมย์ แผ่อิทธิพลไปยังจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ยังพยายามจะผนวกดินแดนอีสานใต้ ดูดงูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ได้มากกว่า 10 ตัวแล้ว

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยชี้เป้าว่า มี ส.ส.อีสานที่ตัวอยู่เพื่อไทย แต่ใจไปภูมิใจไทยอีกหลายราย เช่น ส.ส.ที่อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.นครพนม เพราะบางรายเวลาลงพื้นที่ก็ติดสอยห้อยตามไปกับรัฐมนตรีภูมิใจไทย หรือ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา

หรืออย่าง ขอนแก่น ที่คนวงในพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์กันว่า 2 ส.ส.ขอนแก่น ในตระกูลอรรณพพร คือ “บัลลังก์-สรัสนันท์” อาจย้ายไปซบพรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานพรรค ตาม “พงศกร” ที่ย้ายตัวเองจากเพื่อไทย ไปไทยสร้างไทย ล่วงหน้าก่อนแล้ว

ประเมินฝ่ายค้านอ่อนแอสุด ๆ

แกนนำในพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งเล่าถึงบทสนทนาที่คุยกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ประเมินความอ่อนแอของฝ่ายค้าน ก่อนนำมาเปรียบกับพรรคพลังประชารัฐว่า

มีการวิเคราะห์กันว่า ฝ่ายค้านอ่อนแอมาก แทบไม่มีอะไรเลย พยายามพูดกับลุงป้อมว่า ตอนที่สภาเช่าห้องประชุมอยู่ที่บริษัททีโอที เรามีมากกว่าฝ่ายค้านแค่เสียงเดียวเอง วันนี้เรามีเสียง 270-280 เสียง ฝ่ายค้านเหลือ 210 เสียง

“เราแข็งแรงสุด ๆ ฝ่ายค้านอ่อนแอสุด ๆ แต่กลายเป็นว่าเราจะอ่อนแอเสียเอง คือกลายเป็นว่า เรามีเรื่องนู้นเรื่องนี้ เราทะเลาะกันเอง พยายามเปรียบเทียบให้คิดว่า เป็นเรื่องไม่มีอะไรเลย เราอดทนมาปีกว่า จากปริ่ม ๆ มาถึงตรงนี้ สภาล่มแล้วล่มอีก จนนายกฯต้องเรียกไปคุยที่สนามกอล์ฟราชพฤกษ์ วันนี้สบายอยู่แล้ว แต่ทำให้ตัวเองลำบาก”

“ไม่ควรทำให้ตัวเองลำบาก เรื่องวุ่น ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นซีรีส์ ตอนนี้เชื่อว่าทุกอย่างจบแล้ว ผู้ใหญ่เคลียร์กันได้ลงตัว”

ดังนั้น คิวลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมของ 3 ป. ประยุทธ์-ประวิตร-อนุพงษ์ จึงโฟกัส เช็กเรตติ้งไปที่อีสาน ฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร ควง ร.อ.ธรรมนัส พ่อบ้านพลังประชารัฐ แสดงบารมีที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 14 ตุลาคม

15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ลงไปเยือนพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เมืองใหญ่ภาคอีสาน

แม้พลังประชารัฐจะได้มาแค่ 1 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง แต่พื้นที่อุบลฯ ก็เป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพลังประชารัฐอีกหนึ่งแห่ง เพราะเป็นพื้นที่การเมืองทั้ง สุพล ฟองงาม พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ สิทธิชัย โควสุรัตน์ ที่มีศักยภาพของตัวเองในการทำพื้นที่

ทั้งที่เมืองอุบลฯ กลุ่มการเมืองของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะแข็งแกร่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกสัญจรลงไปในพื้นที่ที่เป็นเขตของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพื้นที่ของชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ หนึ่งใน ส.ส.ที่พรรคเพื่อไทย ว่ากล่าวตักเตือน

เพราะไม่ปรากฏชื่อตนในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่เจ้าตัวแก้ต่างว่า “ระบบผิดพลาด”

งูเห่าในฝ่ายค้านจึงยังแผลงฤทธิ์ต่อไป เมื่อถึงเวลาสมควร

อย่างไรก็ตาม งูเห่าเพื่อไทยอาจสิ้นฤทธิ์ ยอมจำนนอยู่ค่ายเพื่อไทยต่อไป “หากนายใหญ่โทนี่” รีดพิษงูด้วยการเปิดท่อน้ำเลี้ยง ให้งูเห่าได้มีความสุข ไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังดูด