“ประยุทธ์” ปักหมุด เมกะโปรเจ็กต์ ทะลวงมวลชน เจาะฐานเสียงปักษ์ใต้

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จังหวัดสงขลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 27 ถึง 28 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่น “เจาะฐานเสียง” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เต็ม ๆ

ด้วยยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจนำการทหาร” ของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” หวังใช้กลไก “ประชารัฐ” ที่มี “นักธุรกิจท้องถิ่น” ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข-ทายาทนักธุรกิจ “ในพื้นที่” เป็น “หัวหอก” ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้เปลี่ยน “พื้นที่สีแดง” ให้เป็น “สีชมพู”

ด้วยงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ประจำปีงบประมาณ 2561 รวม “เม็ดเงิน” กว่า 1,628 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบฯดำเนินงาน 455 ล้านบาท งบฯลงทุน 1,101 ล้านบาท งบฯรายจ่ายอื่น 71 ล้านบาท

ขณะที่โครงการ “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เตรียมมอบให้ “คนปักษ์ใต้” กว่า “แสนล้าน” ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 30,499 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้าหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,941 ล้านบาท

3.รถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 23,379 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 51,818 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,906 ล้านบาท และ 4.ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เฟสสอง

ทว่าการ “ตีค่าย” ฐานเสียงของ ปชป.ให้ “ขาดวิ่น” อาจไม่ง่ายดายนัก เนื่องจาก “ฐานคะแนนนิยม” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยัง “ห่างชั้น” กับ “ฐานเสียง” พรรคสีฟ้า ที่มีอดีต ส.ส.และ “หัวคะแนน” เกาะติดพื้นที่อย่างเหนียวแน่น

“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีต ส.ส.สงขลา 5 สมัย-บัญชีรายชื่อ ปชป.และอดีต ส.จ.-นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา กล่าวถึง “วาระทางการเมือง” จังหวะก้าวดินแดนปลายด้ามขวานว่า “ต้องแฟร์ ๆ กับรัฐบาล เพราะการประชุม ครม.สัญจร ทุกรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ทำเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อลงไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านแล้วจะได้เครดิตหรือเปล่า แก้ปัญหาชาวบ้านได้ตรงจุดก็ได้คะแนน”

“นิพนธ์” เชื่อว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องกำหนดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ทั้งภาพใหญ่-ภาพเล็ก

การลงพื้นที่ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในครั้งนี้ “นิพนธ์” จึงต้องการสื่อสารปัญหาของพื้นที่ภาคใต้ คือ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงต้องการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านมาตรการ matching fund (เงินรัฐบาล 50% เงิน อปท. 50%) เพื่อนำงบประมาณมาซื้อยางพาราในพื้นที่ และนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนของ อบจ.ทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร

“รวมถึงการหารือถึงหลักเกณฑ์การนำเงินท้องถิ่นมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นว่า มีปัญหา อุปสรรค และหลักเกณฑ์อย่างไร เนื่องจากเงินท้องถิ่นกว่า 1.5 แสนล้านบาท มีหลักเกณฑ์การนำเงินไปใช้ค่อนข้างเข็มงวด เพราะกำหนดอนุญาตให้ใช้เฉพาะเกิดวิกฤตในท้องถิ่น และกำหนดประเภทของการใช้เงินไว้ชัดเจน ดังนั้นจะต้องมีการแก้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยก่อนถึงจะสามารถนำเงินไปใช้ได้”

ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เดินสายเทียวไป-เทียวมา “ล่องใต้” อยู่หลายวาระ ทั้งด้วยตัวเองที่จังหวัดสตูลเพื่อเป็นประธานในพิธีส่งมอบเน็ตประชารัฐ-เปิดใช้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา จ.สตูล

นอกจากนี้ยังส่งรัฐมนตรีสายพลเรือน “มากคอนเน็กชั่น” อย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่มี “พาวเวอร์แบงก์” ของ คสช. อย่าง “สุเทพ” อดีตเลขาธิการ ปชป. อดีต ส.ส.สุราษฎร์ฯหลายสมัย และอดีต “แกนนำ กปปส.” เป็นศูนย์กลาง “แบ่งแต้ม” จากพรรคสะตอ