ศึกใน-สนิมพลังประชารัฐ ขาดเสียงประยุทธ์ แพ้ประชาธิปัตย์เรียบ

นำ
รายงานพิเศษ

 

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดสงขลา เขต 6 และ จ.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สามารถ “รักษาที่นั่ง” ไว้ได้ทั้ง 2 เก้าอี้ สะท้อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ต่างฝ่ายต่างชู พล.อ.ประยุทธ์-นโยบายรัฐบาล

ปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 จังหวัดภาคใต้ นำไปสู่ความ “พ่ายแพ้” ของพรรคพลังประชารัฐ จากปากคำแกนนำ-คีย์แมน “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค วิเคราะห์สั้น-กระชับ แต่ต้องตีความชนิด 360 องศา

“คู่ต่อสู้ใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบ”

“ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย” อดีต ส.ส.ชุมพร ที่ดึงตัวมาจาก “พรรคคู่แข่งขัน” ในฐานะเจนจัดในพื้นที่ รู้ตื้น-ลึก หนา-บางเกมการเมืองภาคใต้ว่า ความไม่คุ้นชินพื้นที่-ระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เป็นข้อจำกัด เข้าตำราพิชัยสงคราม (ไม่) รู้เขา (ไม่) รู้เรา

เสียเหลี่ยมประชาธิปัตย์

ขณะที่ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ส.ส.ชลบุรี ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง-แม่ทัพถือธงรบ เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 ที่ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 2 วัน มั่นใจว่า “น้องโบ๊ต” อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จะกำชัย-ยกมือชนะเหนือหัวคู่แข่ง ด้วยคะแนนทิ้งห่างไม่ต่ำกว่า 5 พันคะแนน ชี้ว่า “ฟางเส้นสุดท้าย” คือ การ “เสียเหลี่ยม” ประชาธิปัตย์ จนกลายเป็นไวรัลในสื่อโซเชียล

“เขา (น้องโบ๊ต) มีที่มาที่ไป ที่มาสมัครพรรคพลังประชารัฐ และเขาตั้งใจในฐานะของคนรุ่นใหม่ ไฟแรง และมีตังค์มีน้อง เราเลือก ส.ส. เราเลือกตัวแทนของพวกเรา เราต้องเลือกคนที่มีความพร้อม ถูกต้องไหมพี่น้อง” คลิปคำพูดของผู้กองธรรมนัสถูกส่งต่อ-ฉายซ้ำ

“พยายามลงไปแก้ สะเดาเป็นอำเภอใหญ่ เรามองว่า ชนะ 7,000-8,000 แต่ชนะ 1,500 ชนะน้อย อำเภอคลองหอยโข่ง แพ้เยอะเกินไป แพ้ไป 5,000 หาดใหญ่ คู่คี่ สูสี แพ้ ชนะกันไม่เกิน 500”

อีก 1 เหตุผลที่ถูกกล่าวขานกัน-พุ่งเป้าไปที่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา-ชุมพร คือ การไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์ ในการหาเสียง

นอกจากการรักษามารยาท-แสดงความเป็นลูกผู้ชายทางการเมืองในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ที่มี “หัวหน้ารัฐบาล” คนเดียวกันแล้ว ยังมีแง่มุมกฎหมายคาบลูกคาบดอก

“ถ้าเอารูปลุงตู่ขึ้น ท่านนายกฯไม่ใช่สมาชิกพรรค เอาท่านนายกฯมาเล่นคลุกฝุ่นไม่ได้ ตะลุมบอนไม่ใช่ ถ้าชูลุงตู่ได้ ก็จะทำให้นายกฯช้ำ” สุชาติระบุ

ตลบหลังพลังประชารัฐชูลุงตู่

ขณะที่ “ผู้ชนะ” พรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะไม่เปิดศึกถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ จนผลักแฟนคลับลุงตู่ไปเป็นแนวต้าน

มิหนำซ้ำยังตลบหลังพรรคพลังประชารัฐดึงกระแส พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น “แต้มบวก” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ จนสามารถ “พลิกชนะ” พรรคพลังประชารัฐในช่วงโค้งสุดท้าย

“ที่ผ่านมาผมสนับสนุนลุงตู่มาโดยตลอด ผมอยู่ประชาธิปัตย์ ผมก็ชูลุงตู่มาโดยตลอด พี่น้องคนชุมพรทราบ ผมไปที่ไหน ผมก็ชูลุงตู่ เรามั่นใจลุงตู่นำพาประเทศได้”

“เที่ยวนี้เป็นการเลือกตั้งซ่อมแทนผม ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทีมงานผมชี้แจงไปอย่างนั้น”

“ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่มีลุงตู่ ไม่มีสักคะแนนหนึ่งในภาคใต้ ที่ได้มาก็เพราะคะแนนลุงตู่ คิดว่ามีคะแนนนำลุงตู่ ไม่ใช้บริการลุงตู่ก็ชนะอยู่แล้ว ผมเห็นเขาลงพื้นที่ขายลุงตู่น้อยเหลือเกิน” จุมพล จุลใส อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมวิเคราะห์ เหตุที่พรรคพลังประชารัฐไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์

สวนทางกับพรรคพลังประชารัฐที่ชู “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พ่วงนโยบาย “อยู่ดีกินดี-ใจถึงพึ่งได้” และ “นโยบายบิ๊กป้อม” ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

ทว่า พล.อ.ประวิตรรู้เท่าทันเกมการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ทุกเวทีปราศรัย พล.อ.ประวิตร จะหยิบยกนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้กระทั่งความทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมืองตลอด 8 ปี ขึ้นมาพูดบนเวทีทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดภาพความแตกแยกของพี่-น้อง 3 ป.

โจทย์ใหญ่ ประชาธิปัตย์

ในฐานะคนกลาง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยังเคยสวมบทเป็นผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ มองว่า หลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องคุยกันภายในแล้วว่าจะเตรียมตัวอย่างไร

วางยุทธศาสตร์อย่างไรที่จะชนะฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงฝ่ายตรงข้าม (พรรคพลังประชารัฐ) ที่คิดว่าไม่สามารถเกิดได้ ก็เกิดได้หลายพื้นที่และอยู่ในระดับที่มาจ่อคอหอย จ่อต้นคอกันแล้ว จะทำอย่างไรในอนาคต

สิ่งที่เป็นคำถามของประชาชนคงไม่ได้มองเรื่องผลงานรัฐบาล แต่มองถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ว่าเป็นจุดยืนที่จะสนับสนุนแนวความคิดการเมืองฝั่งใด เป็นโจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า เรื่องของผลงาน แม้รัฐบาลจะมีผลงานก็โดนอ้างเป็นของคนอื่น ไม่ได้ทำให้ประชาชนยอมรับมากขึ้นได้

แต่เรื่องของการแสดงจุดยืนทางการเมืองในหลาย ๆ เรื่องที่สำคัญและจำเป็นต่างหาก ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาจะยังตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปหรือไม่ ไม่เช่นนั้นแฟนคลับก็จะหายไป

“ผมเคยเป็นผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ก็จะรู้ว่า แฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ คือกลุ่มคนที่มีอายุ สูงอายุ และคนเหล่านี้เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ อายุเขาก็มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดคือ เอาคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่เข้ามาได้อย่างไร ไม่ใช่คะแนนเดิมมีอยู่ ก็ปล่อยให้อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วสูญหายตายจากไป”

“อย่าคิดเพียงแค่ฐานเสียงเดิม ต้องคิดถึงฐานเสียงใหม่ ๆ ซึ่งขยายไม่ได้ พรรคก็จะเล็กลง เป็นสิ่งที่น่ากังวล”

ต้องใช้หลวงพ่อป้อมให้ถูก

ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐ “พี่ใหญ่ประวิตร” ถูกตั้งคำถามว่า ยังขลังสำหรับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

“สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยืนยันว่า “หลวงพ่อป้อม” ยังขลังอยู่ แต่ต้องใช้ให้ถูกที่

“ถ้าแขวนหลวงพ่อป้อมไปเอาคะแนนจากประชาชน ก็อาจจะบอกว่าไม่ขลังในภาคใต้ก็ใช่ เพราะแขวนหลวงพ่อป้อมไปเอาคะแนนจากประชาชนโดยตรงมันไม่ใช่ แต่หลวงพ่อป้อมเอาไว้แขวนเพื่อเอานักการเมืองมาเข้าพรรค เรื่องนี้ยังศักดิ์สิทธิ์หายห่วง”

“พล.อ.ประวิตรมีไว้ใช้อย่างนี้ เดินทางไปภาคอีสาน คนยังเรียกนายกฯเลย จึงต้องใช้ พล.อ.ประวิตร ให้ถูกที่ ถูกเวลา และสถานการณ์”

ส่วนคนที่มีปัญหาในนาทีนี้ “สติธร” พุ่งเป้าไปที่ ร.อ.ธรรมนัส เพราะก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนที่ พล.อ.ประวิตรเชื่อมือ ที่ผ่านมาเลือกตั้งซ่อมสำเร็จทุกสนาม พล.อ.ประยุทธ์ มาขอให้ปลดก็ไม่ยอมปลด เพราะยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่ แต่รอบนี้ ร.อ.ธรรมนัสแพ้แล้ว ดังนั้น เครดิตของ ร.อ.ธรรมนัสในสายตา พล.อ.ประวิตร ก็อ่อนลงเป็นธรรมดา

ปชป.ทุ่มสุดกำลัง พปชร.เสมอตัว

ส่วนประชาธิปัตย์ถือว่า “โชคช่วย” เพราะทั้ง 2 พื้นที่ ชุมพร-สงขลา เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ขนาดเลือกตั้งปี 2562 ยังรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ ขนาด “ชุมพล จุลใส” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ ถาวร เสนเนียม ยังไม่ยอมย้ายพรรคไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ แปลว่าพรรคประชาธิปัตย์แข็งใน 2 เขตเลือกตั้งนี้อยู่แล้ว แค่อย่าเพลี่ยงพล้ำ

“ต้องถามพรรคประชาธิปัตย์ว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เหนื่อยไหม…. เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ครั้งไหนเหนื่อยกว่ากัน ลงทุน ลงแรงไปเท่าไหร่ถึงได้มาเท่านี้ เหนื่อยจนเลือดตาแทบกระเด็นไหม… ไม่ใช่ส่งเสาไฟฟ้าแล้วไปเฉือนพรรคพลังประชารัฐ”

“สติธร” มองว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสียอะไร แค่ตีเมืองขึ้นไม่แตก ยกทัพกลับ ไปตั้งหลักใหม่ แต่พรรคประชาธิปัตย์ กำแพงเมือง ป้อมค่าย พังไปเท่าไหร่ ต้องกลับไปซ่อมแซมเท่าไหร่ แค่ได้รักษาฐานเอาไว้ให้ได้

ปชป.ต้องเกาะลุงตู่

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ก็ขาดพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ “สติธร” กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ต้องชูโมเดลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงจะสำเร็จ ขนาดบอกว่าคนละครึ่งเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ยอมเลย

“พรรคประชาธิปัตย์เกาะ พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดไหน ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องเกาะโมเดลนี้ ให้ประชาชนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะไปเป็นรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงจะรอด แต่ถ้ามาโมเดล ไม่เอาสืบทอดอำนาจเหมือนยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ก็ตาย…”

การปราชัยของพลังประชารัฐ และชัยชนะของประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 จังหวัดภาคใต้ สะท้อนให้เห็นเรตติ้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “พล.อ.ประวิตร” และการบริหารจัดการภายในพลังประชารัฐของ “ร.อ.ธรรมนัส” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“พล.อ.ประยุทธ์” คือ คนที่พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ “ขาดไม่ได้” ในสนามเลือกตั้งภาคใต้