ผุดศูนย์ปราบ Fake news ทั่วประเทศ ครม.ไฟเขียวร่างระเบียบสำนักนายก

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ป้องกันข่าวปลอม ให้มี ประจำกระทรวง – ประจำจังหวัด” เดินหน้าขจัดข่าวปลอม (Fake news) ป้องกันการยั่วยุ สร้างความแตกแยกในสังคมในวงกว้าง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ….

เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ร่วมกันของหน่วยงานของรัฐ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์

ทั้งนี้ จะให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ 1) ศูนย์ประสานงานกลาง 2) ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง และ 3) ศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์

สาระสำคัญร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ อาทิ – กำหนดนิยามคำสำคัญ เช่น “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” และ “ข่าวปลอม” จัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง ให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กลาง” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ

ให้ทุกกระทรวงจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ประจำกระทรวง” และให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ประจำจังหวัด” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด

ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม ดำเนินการแถลงข่าวทันทีที่พบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมและแจ้ง กรมประชาสัมพันธ์ภายใน 1 ชั่วโมงและให้บังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องจัดให้มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว

กรณีข่าวปลอมใดที่เข้าข่ายหรือสมควรดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบตามระเบียบนี้ แจ้งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ของงานเพื่อการประเมินผลการดำเนินงานตามระเบียบนี้

นายธนกร กล่าวว่า ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ นี้จะเป็นกรอบในการขจัดข่าวปลอม (Fake news) ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชน และสังคมในวงกว้างโดยเฉพาะข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม การยั่วยุ ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ

“ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็กและเยาวชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างและเผยแพร่ ข่าวปลอม (Fake news) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้ม ที่จะขยายตัวมากขึ้น” นายธนกร กล่าว