ธรรมศักดิ์ บุญเชิด หนึ่งในผู้ออกแบบโปสเตอร์ยุค 6 ตุลา สิ้นแล้ว

ธรรมศักดิ์ บุญเชิด หนึ่งในผู้ออกแบบโปสเตอร์ยุค 6 ตุลา สิ้นแล้ว

ธรรมศักดิ์ บุญเชิด ศิลปินอาวุโส หนึ่งในผู้ออกแบบโปสเตอร์การชุมนุมยุค 6 ตุลา เสียชีวิตแล้วเมื่อช่วงค่ำวานนี้

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นายธรรมศักดิ์ บุญเชิด ศิลปินอาวุโส หนึ่งในผู้ออกแบบโปสเตอร์การชุมนุมยุค 6 ตุลา เสียชีวิตแล้วเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามรายงานของมติชน นายเรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์ ศิลปินเพื่อสังคมและนักวาดภาพประกอบชื่อดังแจ้งข่าวการรดน้ำศพที่วัดละหารทราย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ในช่วงบ่ายวันนี้

บุคคลในแวดวงศิลปะร่วมโพสต์แสดงความอาลัยจำนวนมาก อาทิ นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินรางวัลศรีบูรพา, ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง และนายวนะ วรรลยางกูร ศิลปินรุ่นใหม่ บุตรชายนายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนชื่อดัง เป็นต้น โดยนายวนะโพสต์ข้อความไว้อาลัย ความว่า

“ทราบข่าวร้ายลุงเล็กธรรมศักดิ์ บุญเชิด เสียชีวิตแล้ว เสียใจกับครอบครัวของลุงอย่างยิ่งครับ ผลงานของลุงจะอยู่ในหัวใจผมและคนรุ่นหลังตลอดไป สำหรับผมงานของลุงสำคัญต่อประเทศนี้มากแต่กลับได้รับการยกย่องน้อยเกินไปมาตลอด สู่สุคตินะครับผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะเพื่อชีวิต”

รู้จัก ธรรมศักดิ์ บุญเชิด

ข้อมูลจาก มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ระบุไว้ว่านายธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2488 เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีผลงานนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการชุด วอลล์ แฮงจิ้ง หอศิลป พีระศรี, นิทรรศการชุด ไลน์ส ออน วอลล์ 1 หอศิลป คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร, แฮ็บเพ็นนิ่ง และอินสตอลเลชั่น หอศิลปแห่งชาติ, เจตจำนงเสรีจิตรกรรม 2535 หอศิลปแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังร่วมนิทรรศการกลุ่ม อาทิ การแสดงศิลปกรรม กลุ่มธรรม หอศิลป พีระศรี, การแสดงศิลปกรรม นานาชาติ ญี่ปุ่น ยุโรป, การแสดงจิตรกรรมและภาพถ่ายอาเซียน ครั้งที่ 4, การแสดง “ศิลปความคิด” ครั้งที่ 1 ที่หอศิลป พีระศรี

รวมถึงเป็นศิลปินรับเชิญเข้าร่วมแสดงงานศิลปกรรม โครงการ Arx 1989 (Australia & Regions Artists Exchange) เพิรทธ์ ออสเตรเลีย, การแสดงศิลปกรรม วันสันติภาพไทย มหาวิทยาลัย (แฮ็ปเพ็นนิ่ง เพื่อสันติภาพ ที่ท้องสนามหลวง) และการแสดงศิลปกรรม “พลังแห่งความงาม สีและตัวฉัน” ที่ริเวอร์ซิตี้ กรุงเทพฯ


นายธรรมศักดิ์ เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ศูนย์รวมของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยภาคอีสาน ได้ออกแบบโปสเตอร์ในการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยนำผลงานสเกตช์ของนักศึกษา 2 ชิ้นมาวาดลงคัตเอาต์แล้วลงสีซึ่งยุคนั้นนิยมใช้สีทึบ (solid) ลักษณะคล้ายป๊อปอาร์ต เพื่อให้สีดึงดูดสายตาคนแม้จะมองจากระยะไกล