“บิ๊กตู่” โปรยงบภาคเหนือตอนล่าง ดึงคันเร่ง 3 โครงการน้ำ-ราง-สนามบิน

“บิ๊กตู่” โปรยงบภาคเหนือตอนล่าง ดึงคันเร่ง 3 โครงการน้ำ-ราง-สนามบิน ดันท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 รองรับนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน แก้น้ำท่วม-แล้งลุ่มแม่น้ำยม 1.4 พันล้าน ชงรถไฟเส้นทาง เด่นชัย-เชียงของ ลพบุรี-เชียงใหม่ เข้า ครม.มี.ค.62 “ไฮสปีดเทรน” กรุงเทพ ฯ-เชียงใหม่ ส่ออืด ทบทวนความคุ้มค่า 4 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ที่ห้องประชุมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศส.) แถลงผลการประชุมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ ระหว่างเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) อย่างเป็นทางการ จังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย ระหว่างวันที่ 25-26 ธันวาคม 2560 ว่าที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอเพื่อนำไปพิจารณา 6 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.1 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ (1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเต็มศักยภาพในปี 2573 จำนวน 35 ล้านคน ในพื้นที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เชื่อมต่อจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน อำเภอบ้านทิ (2) ปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบด้วย การขยายทางวิ่งท่าอากาศยานลำปาง แพร่ น่าน และพิษณุโลก ทั้งหมดอยู่ในแผนการขอกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2562

1.2 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางบก (1) โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งต้องเจาะภูเขาและอุโมงค์ ถึงแม้จะร่นระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น มากกว่าการขยายช่องจราจร 4 เลน ตามแผนของกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะต้องไปศึกษาความคุ้มค่าอีกครั้ง (2) สร้างศูนย์การขนส่งสินค้าไปสู่การขนส่งหลายรูปแบบ (Multi Modals Transportation Logistics Center) ซึ่งอยู่ในแผนในปีงบประมาณ 2562 และการเวนคืนที่ดิน

(3) พัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ หรือ Light Rail Transit System (LRL) โดยรัฐบาลลงทุนเอง หรือ ร่วมทุนกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามรัฐบาลเห็นว่า รูปแบบการลงทุนควรเป็น PPP โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ต่อไป ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งทางบกและจราจจร (สนข.) ได้ศึกษาเส้นทางทั้งใต้ดินและบนดิน 34 กิโลเมตรและบนดินทั้งหมด 41 กิโลเมตร

(4) ก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ (เชียงใหม่-เลี่ยงเมืองลำพูน) (5) พัฒนาโครงการข่ายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 จังหวัดกำแพงเพชร-สุโขทัย-อุตรดิษถ์-แพร่-น่าน-พะเยา-เชียงราย เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก และ (6) ขยายช่องทางจราจร 3-4 ถนน ได้แก่ 1) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เป็น 4 ช่องทางจราจร และสำรวจออกแบบช่วง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง-อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สะเรียง-อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1091 อำเภอจุน-อำเภอปง-อำเภอเชียงม่วน-จังหวัดน่าน 3) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 115 กำแพงเพชร-พิจิตร-พิษณุโลก และ 4) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 หล่มสัก-เพชรบูรณ์-ทาลี่-เลย ทั้งนี้บางช่วงยังมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

1.3 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางบก (1) การก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค ทางหลวงหมายเลข 1026 ตอนผาเวียง-ปากนาย เพื่อบรรจบทางหลวงหมายเลข 1339 ตอนน้ำปาด-ปากนาย และ (2) เส้นทางสายแม่สอด-ตาก เชื่อมทางหลวงหมายเลข 12 เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก

1.4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง เห็นชอบผลักดันระบบรางเส้นใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ ลพบุรี-เชียงใหม่ และ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมีนาคม 2561 นอกจากนี้ภาคเอกชนเสนอรถไฟทางคู่ เส้นทางลพบุรี-เพชรบูรณ์ ด้วย

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพ ฯ – พิษณุโลก – เชียงใหม่ ผลการศึกษาของญี่ปุ่น ลงทุนสูง ประมาณ 4 แสนล้าน จึงต้องพิจารณาเรื่องคุ้มค่าการลงทุน ผลตอบแทน เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาสง กรุงเทพ ฯ – หนองคาย ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจชัดเจน

2.ด้านการบริหารจัดการน้ำภาคเหนือ โดยเฉพาะลุ่มแม้น้ำยม เสนอโครงการขนาดเล็ก เช่น ฝาย และ โครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำตอนล่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยกรมชลประทานจะขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม วงเงิน 1,400 ล้านบาท ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ

3.ด้านการเกษตรและแปรรูป โดยขอรับการสนับสนุน “โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ” โดยใช้ผักผลไม้ที่สร้างรายได้สูงเพื่อนำร่อง ได้แก่ กล้วยหอม สัปปะรด กระเจี๊ยบ มะม่วง ข้าว ไผ่ และพืชสมุนไพร คาดว่าจะมีเกษตรกรร่วม 5,000 ราย สร้างรายได้ 9,000 ล้านบาท ยกระดับเป็นพืชส่งออกและแปรรูป

4.ด้านการค้าและการลงทุน (1) การอำนวยความสะดวกการผ่านแดนโดยการทำ Visa on Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนและเมียนมา กระทรวงต่างประเทศรับไปพิจารณา (2) การทำความตกลงทวิภาคีการเปิดเดินรถส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมาได้ (3) การอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งสินค้าในฝั่งไทยด้านด่านแม่สอด จังหวัดตาก (4) ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก (West Economic Corridor : WEC) ในพื้นที่ จังหวัดตาก พิษณุโลกและสุโขทัย ทั้งนี้อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ East-West Economic Corridor อยู่แล้ว

และ (5) เร่งรัดดำเนินการเพิกถอนเส้นทางในการก่อสร้างถนนเพื่อการคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศไปยังจุดผ่อนปรณบ้านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงเหล้าและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เงา-แม่สำเพ็ง ระยะทาง 9.7 กม. 365 ไร่ เพื่อยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต ดังนั้นจึงให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปพิจารณาศึกษาร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อติดขัดเรื่องความไม่ชัดเจนของเขตแดน

นอกจากนี้เอกชนยังขอให้พิจารณาสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าศักยภาพการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูงภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley & Fruit Expo) และ (2) การจัดงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจภาคเหนือในระดับนานาชาติ (Northern Thailand GMS Trade Fair and Business Forum) โดยกระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาดำเนินการ

5.ด้านการแพทย์ การบริการผู้สูงอายุและสังคม เนื่องจากภาคเหนือมีอัตราผู้สูงอายุสูง หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ จึงต้องมีโครงการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร การผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพร (Herb City)

6.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวในภาคเหนือไปได้ดี ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยบูรณาการระหว่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬากับกระทรวงคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระหว่างภูมิภาคกับการท่องเที่ยวตามจุดต่าง ๆ