เซีย เชน เยน เปลี่ยน “เดลต้า” สู่อุตสาหกรรม EV

สัมภาษณ์

เกือบ 30 ปี สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ top 5 ของโลก ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของสู่การเป็น industry automation solution “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายเซีย เชน เยน (ดิ๊ก เซีย)” ประธานบริหาร DELTA ถึงทิศทางธุรกิจนับจากนี้

Q : ภาพรวมของ DELTA

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ จากผู้ที่เป็นบริษัทรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด (OEM) และเป็นผู้ผลิตที่มีรูปแบบการพัฒนาดีไซน์ รูปแบบสินค้าได้เอง (ODM) จากเดิมเน้นการผลิตชิ้นส่วนประกอบ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จะเน้นไปในกลุ่มการจัดการพลังงาน ประกอบด้วย พาวเวอร์ซิสเต็มสำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยานยนต์ งานโทรคมนาคม ระบบงานอุตสาหกรรม ระบบสำนักงานอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ดีซี-ดีซีคอนเวอร์เตอร์ และอะแดปเตอร์ ระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบศูนย์ข้อมูล และการจัดการพลังงาน

โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึง 90% ป้อนให้ในประเทศเพียง 10% เท่านั้น ตลาดหลักเป็นยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น เอเชีย เดลต้าฯไม่เพียงขยายการลงทุนในไทย แต่ยังได้ลงทุนโรงงานผลิตในอินเดีย สโลวะเกีย รวมถึงลงทุนศูนย์วิจัยพัฒนาและออกแบบทั้งในไทย อินเดีย และเยอรมนี

Q : แรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลง

แต่ด้วยภาวะการแข่งขันในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้ทันความต้องการตามอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป

Q : โอกาสของชิ้นส่วน EV

ประเทศไทยยังคงเป็นโอกาสที่ดีของเดลต้าฯ ด้วยรัฐบาลไทยมีมาตรการที่ออกมาสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโตได้ เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเกิดขึ้นจากทั่วโลกไม่เพียงที่ไทยแห่งเดียว เมื่อแนวโน้มการใช้รถยนต์ EV มากขึ้นในอนาคตคาดว่าจะมีความต้องการ 25-30% จากปี 2560 การหันมาเน้นผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์ EV เพื่อรองรับตลาดนั้นคือสิ่งที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเดลต้าฯ จากผู้นำของโมเดลธุรกิจหลักในกลุ่มพาวเวอร์ มาสู่กลุ่มของการจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า

เมื่อไม่นานตลาดรถยนต์ EV เข้าสู่จีนมีสัดส่วนถึง 50% อีก 25% อยู่ในยุโรป 15% อยู่ในสหรัฐ และอีกประมาณ 10% อยู่ในเอเชีย เมื่อวันหนึ่ง EV เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยแม้ตอนนี้จะยังน้อยไม่ถึง 1% แต่อีกไม่นานดีมานด์เพิ่มขึ้นเราจะหลีกหนีรถยนต์ไฟฟ้าไปไม่ได้เลย

ขณะที่พลังงานทดแทนจะทยอยเข้ามาเสริม เพราะทุกอย่างมันต้องเข้ามาสนับสนุนกัน มีการใช้รถไฟฟ้าก็ต้องมีแหล่งพลังงานเกิดขึ้น อย่างสถานีชาร์จ (EV charger) แบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ หรือแม้แต่แหล่งกักเก็บพลัง หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (energy storage) ถึงเวลาที่เดลต้าฯ กำลังปรับเข้าสู่ผู้ผลิตชิ้นสวนรถยนต์ EV แล้วแน่นอน ซึ่งตอนนี้เราได้ทยอยป้อนให้กับโตโยต้า ฮอนด้า ขณะที่เบนซ์ เทสล่า จีเอ็ม และพอร์ชคือเจ้าตลาดรถยนต์ EV ที่เดลต้าฯผลิตชิ้นส่วนป้อนให้มานานแล้ว

Q : แนวทางไปสู่เป้าหมาย EV

สำหรับแนวทางที่จะไปสู่เป้าหมายการผลิตชิ้นส่วน EV และอากาศยานนั้น โดยหลักคือต้องประเมินตลาด หาตลาดที่จะป้อนให้ได้ จากนั้นจะเจรจาพาร์ตเนอร์ คู่ค้าเพื่อร่วมกันพัฒนาวิจัยถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน เมื่อพบว่ามีโอกาสจะเข้าคุยกับซัพพลายเออร์นำงานวิจัยมาใช้และร่วมกันผลิต

Q : ป้อนชิ้นส่วนอากาศยาน EEC

นอกจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV แล้ว เป้าหมายต่อไปคือ อุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ผลิตให้กับบริษัทผลิตเครื่องบินอยู่แล้ว 2 สายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนกลุ่ม entertainment เช่น WiFi router จอโทรทัศน์แบบสัมผัส ซึ่งจะไม่ไปสู่การผลิตส่วนประกอบในกลุ่ม security เนื่องจากมีบริษัทที่ผลิตเหล่านี้ป้อนให้กับบริษัทผลิตเครื่องบินอยู่แล้ว แต่ด้วยความไม่ชำนาญในชิ้นส่วนดังกล่าวจึงไม่มีแผนขยายการผลิตกลุ่มนี้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมอากาศยานของเดลต้าฯจะยังมีสัดส่วนน้อย แต่เชื่อว่าจากนโยบายของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้โอกาสของอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นในไทยได้เร็วขึ้น