เปิดสถิติ ยอดขายร้าน 7-Eleven ต่อวัน ลูกค้าเข้าใช้บริการกี่คน ?

เปิดสถิติ ยอดขายร้าน 7-Eleven ต่อวัน พร้อมไขข้อสงสัยว่าลูกค้าเข้าใช้บริการกี่คนต่อวัน ?

วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 แม้ว่าเราจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ตาม ระหว่างทางเมื่อหันไปมองทางซ้ายหรือทางขวา ต้องเจอร้าน 7-Eleven ตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ครองเจ้าตลาดในประเทศมาอย่างยาวนาน

และเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยกันมากว่า ภายใน 1 วันมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการร้าน 7-Eleven กี่คน มียอดขายต่อสาขาต่อวันเท่าไหร่ ปัจจุบันมีกี่สาขา และร่ำรวยแค่ไหน วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลที่ทุกคนอยากรู้มาเล่าให้ฟังดังนี้

คนเข้าใช้บริการต่อวันเฉลี่ย 800-900 คน

โดยอ้างอิงข้อมูลจาก บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ โดยพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565)

  • ปี 2565 มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 916 คน
  • ปี 2564 มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 805 คน
  • ปี 2563 มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 949 คน

ยอดขายต่อร้านต่อวันเฉลี่ย 6-7 หมื่นบาท

  • ปี 2565 มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 76,582 บาท
  • ปี 2564 มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 65,928 บาท
  • ปี 2563 มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 70,851 บาท

โดยปี 2565 มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 84 บาท ปี 2564 มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 82 บาท และปี 2563 มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 75 บาท

รายได้ขายสินค้าและบริการ 3 แสนล้าน

ในส่วนทิศทางรายได้ของร้าน 7-Eleven จากการขายสินค้าและการให้บริการ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565)

  • ปี 2565 มีรายได้ขายสินค้าและให้บริการ 354,973 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ขายสินค้าและให้บริการ 290,228 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ขายสินค้าและให้บริการ 300,705 ล้านบาท

โดยในปี 2565 ร้าน 7-Eleven มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการเพิ่มขึ้น 64,745 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมเพิ่มขึ้นในอัตรา 15.9% เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อปี 2564 ร้าน 7-Eleven มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการลดลง 10,477 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% YOY ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมลดลงในอัตรา 6.7% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

เช่นเดียวกับปี 2563 ร้าน 7-Eleven มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการลดลง 33,356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมลดลงในอัตรา 14.5% โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด

กำไรร้าน 7-Eleven ปีละหมื่นล้าน

ด้านทิศทางกำไรสุทธิจากกลุ่มธุรกิจร้าน 7-Eleven ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) พบว่า

  • ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 11,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.21%
  • ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 9,032 ล้านบาท ลดลง 36.8%
  • ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 14,298 ล้านบาท ลดลง 29.1%

โดยปี 2565 รายงานกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% YOY และปี 2564 มีกำไรจากการดำเนินงาน 19,221 ล้านบาท ลดลง 14.2% และปี 2563 มีกําไรจากการดําเนินงาน 22,415 ล้านบาท ลดลง 20.9%

มีสาขาทั่วประเทศ 13,838 แห่ง

สำหรับทิศทางสาขาร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศ จนถึงสิ้นปี 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 13,838 สาขา แบ่งเป็น 1.ร้านของ CPALL จำนวน 6,839 สาขา (คิดเป็น 49%) เพิ่มขึ้น 559 สาขา YOY 2.ร้าน Store Business Partner (SBP) จำนวน 6,144 สาขา (คิดเป็น 45%) เพิ่มขึ้น 124 สาขา และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 855 สาขา (คิดเป็น 6%) เพิ่มขึ้น 21 สาขา โดยปีที่แล้วได้ขยายสาขาใหม่ไปจำนวน 704 สาขา

ปี’66 ทุ่มงบฯเปิดสาขาใหม่ 4 พันล้าน

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน CPALL รายงานว่า แนวโน้มธุรกิจร้าน 7-Eleven ในปี 2566 วางแผนจะพัฒนาช่องทางการขายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

โดยจะใช้งบลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ประมาณ 3,800-4,000 ล้านบาท ประมาณ 700 สาขา

ทั้งนี้ งบลงทุนในปี 2566 รวมประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท นอกจากใช้เพื่อลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ จะใช้ลงทุนปรับร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท ลงทุนในโครงการใหม่และบริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศประมาณ 1,300-1,400 ล้านบาท