รู้หรือไม่ ? ใครถือพันธบัตรรัฐบาลไทยบ้าง มูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้าน

พันธบัตรรัฐบาล

รู้หรือไม่ ? ใครถือพันธบัตรรัฐบาลไทยบ้าง มูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้าน

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานว่า ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างรวม 14 ล้านล้านบาท พันธบัตรรัฐบาล (รวมตั๋วเงินคลัง) มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 45% ของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด โดยมีมูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้านบาท แล้วใครถือพันธบัตรรัฐบาลไทยบ้าง และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นไตรมาส 1/2564 พบว่ากลุ่มผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงสุด 4 ลำดับแรก คิดเป็นสัดส่วนถึง 82%  ได้แก่

1.กองทุนเพื่อการออมระยะยาวต่างๆ สัดส่วน 27%
2.บริษัทประกันฯ สัดส่วน 23%

3.ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 19%

4.นักลงทุนต่างชาติ สัดส่วน 13%

ส่วนนักลงทุนบุคคลธรรมดามีสัดส่วนถือครองพันธบัตรรัฐบาลเพียง 5% เท่านั้น

สาเหตุที่พันธบัตรรัฐบาลถูกถือครองโดยนักลงทุนสถาบันแทบทั้งสิ้นก็เนื่องจากกระทรวงการคลังจะจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นทั่วไปที่เรียกว่า Loan bond (LB) ต่อนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก โดยมีตารางการจัดประมูลอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ในขณะที่การจำหน่ายพันธบัตรต่อบุคคลธรรมดาหรือประชาชนทั่วไปนั้น จะมีเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลรุ่นออมทรัพย์ (Saving bond) ซึ่งมีกำหนดการจำหน่ายไม่แน่นอน ปีละไม่กี่ครั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบันที่นอกจากจะถือครองเพื่อการลงทุนและรับดอกเบี้ยแล้วยังต้องการถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลอีกด้วย