รองเลขาสภาพัฒน์ชี้ ภาคอสังหาฯปีนี้เฟื่อง ปัจจัยหนุนเพียบทั้งจีดีพีขาขึ้น รายได้ประชาชนดีขึ้น ดอกเบี้ยระดับต่ำ

รองเลขาสภาพัฒน์ชี้ ภาคอสังหาฯปีนี้เฟื่อง ปัจจัยหนุนเพียบทั้งจีดีพีขาขึ้น รายได้ประชาชนดีขึ้น ดอกเบี้ยระดับต่ำ การลงทุนภาครัฐหนุนนำ

งานสัมมนา 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ ประจำปี 2561 วันที่ 31 มกราคม 2561 โดย นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บรรยายหัวข้อ “แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนของโลกและไทย และผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561” สรุปดังนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560 ขยายตัว 3.8% ปีนี้คาดการณ์จีดีพี 4.1% ซึ่งหมายถึงเป็นการปรับตัวในรอบ 6 ปี โดยยอมรับว่ามีการกระจุกตัวพอสมควร อย่างไรก็ตาม มีการกระจายตัวของการเติบโต ทั้งระดับสาขาภาคการผลิต มองย้อนกลับปี 2557 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นตัวแดง โดยมีภาคการท่องเที่ยวกับการลงทุนภาครัฐเป็นตัวหลัก , ปี 2558 ภาคเกษตรราคาพืชผลย่ำแย่ ต่อมาปี 2559 เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากภาคส่งออก, ภาคเกษตรเริ่มฟื้นจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว

กระทั่งครึ่งหลังปี 2560 ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาขยายตัว ควบคู่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณที่ดี กราฟเป็นขาขึ้นตามลำดับ สิ่งที่เรารอคอยคือ “การจ้างงาน” จากติดลบในภาพรวม ช่วงปลายปีที่แล้วเริ่มเห็นการจ้างงานเป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร

ในด้านสาขาการผลิต มีการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยปี 2557 ราคาพืชผลมีการปรับตัวลดลง 6 รายการ ล่าสุดราคาหดตัวเพียงรายการเดียว, ปี 2558 ภาคส่งออกมีการขยายตัวเพียง 5 รายการ ปีล่าสุดมีการขยายตัวเกือบทั้งหมด มีหดตัวเพียง 4 รายการ

Advertisment

ในด้านภูมิภาค หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก ข้อมูลที่รวบรวมได้ “ภาคเหนือ” ภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 1/60 แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายเริ่มในไตรมาส 2-3/60 สะท้อนเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งการเติบโตและการกระจายตัว

แนวโน้มปี 2561 สามหน่วยงานหลักคือ สภาพัฒน์ แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง แข่งกันปรับตัวเลขคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจ จากภาพเศรษฐกิจโลกจาก 3.6% เป็น 3.9% ของไอเอมเอฟ ปรับขึ้นเป็นวงกว้างทังประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่

นั่นคือ เศรษฐกิจโลกปีนี้ภาพล่าสุดยังไปได้ต่อเนื่อง และขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น

เทรนด์ที่สอง เงินเฟ้อในตลาดโลกเริ่มปรับเข้าสู่เป้าหมายประเทศสำคัญมากขึ้น หมายความว่า การปรับทิศทางนโยบายการเงินทำต่อเนื่อง และทำให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยดอกเบี้ยระยะยาว (พันธบัตร) ยังไม่เพิ่มชัดเจนนัก แต่เริ่มเห็นสัญญาณขาขึ้น ทั้งแบบดอกเบี้ย 2 ปีและ 5 ปี โดยพันธบัตรสหรัฐเริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 10 ปี

Advertisment

ตลาดหุ้น ต้นปีดูดีมาก ดาวน์โจนส์ผ่าน 25,000 จุด ไทยเองผ่าน 1,800 จุด นั่นคือตลาดเงินตลาดทุนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

คำถามคือปัจจัยอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น เรื่องแรก “ภาคส่งออก” เริ่มกลับมาและเศรษฐกิจโลกปีนี้เร่งตัวขึ้น คาดว่าขยายตัวในเกณฑ์ดี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น กำลังผลิตส่วนเกินจะลดลง

“การลงทุนภาครัฐ” เร่งตัวขึ้นแน่ๆ ดูจากกรอบงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ในด้านรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น 4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 40% กว่าบวกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มพูดตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 6 ก็ได้เริ่มเห็นในปีนี้ แอคชันแพลน 1.3 ล้านล้านบาท วันนี้ใช้เงินลงทุนแล้ว 6 แสนล้านบาท 11 โครงการ มีอีก 5 โครงการ ลงทุน 2 แสนล้านบาทรอเคาะลงทุน

สาขาเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะท่องเที่ยวไทยยังเป็นเป้าหมายนักท่องเที่ยวมาเยือน , การลงทุนเอกชนคึกคักมากขึ้น ฯลฯ ปีนี้มองว่าฐานรายได้ประชาชนดีขึ้น อาทิ น้ำในเขื่อนมากขึ้น การจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี

ทั้งนี้ ในด้านความเสี่ยงพบว่า ระดับโลกยังมีความเสี่ยง NAFTA Talk แม้มีข่าวว่าอเมริกาจะ unplug นาฟต้า แคนาดา, การเจรจา Brexit ไม่ได้มีสัญญาณเอาเป็นเอาตาย ตัวราคาสินค้า เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยไม่อยากให้กังวลมากนัก เพราะดอกเบี้ย MLR ไม่ได้สูง ฯลฯ

ผลกระทบต่ออสังหาฯ เรื่องแรก รายได้ประชาชน ด้านหนึ่งรายได้ปรับตัวดีขึ้น อีกด้านดอกเบี้ยปรับขึ้น ยังเชื่อว่าแม้ดอกเบี้ยระดับโลกอยู่ระดับต่ำ อสังหาฯ ก็ปรับไปตามภาวะในประเทศ, อีกเรื่องคือการลงทุนภาครัฐที่เป็นตัวกระตุ้นอย่างดีมาก