The Next Chapter SCG โซลูชั่น “กรีนคอนสตรักชั่น+สมาร์ทลิฟวิ่ง”

scg

เลาะเลียบอีเวนต์แห่งปี 2565 ของเอสซีจี หัวข้อ “SCG : The Next Chapter Exposition” เมื่อเร็ว ๆ นี้

ผู้บริหารขึ้นเวทีชวนคุยหลากเรื่องหลายอรรถรส แน่นอนว่าเจ้าภาพที่จัดงานคือเอสซีจี นวัตกรรมทั้งสินค้าและบริการจึงมีให้เลือกชมละลานตา คัดเลือกมานำเสนอพอสังเขป ดังนี้

ไซต์ก่อสร้าง Net Zero Carbon

“สุขธวัช พัทธวรากร” ESG Direction บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เอสซีจี เปิดประเด็นชวนคุยภาวะโลกร้อนกับอุตสาหกรรมก่อสร้างมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยธุรกิจ CPAC ทำเกี่ยวกับวัสดุและการก่อสร้างต่าง ๆ คีย์เวิร์ดวันนี้คือคำว่า ก่อสร้างยุคใหม่กับโลกร้อน จุดโฟกัสพูดเรื่องการก่อสร้างกับโลกไม่ร้อน

ทั้งนี้ ไซต์งานก่อสร้างเราจะเห็นวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ดิน ทราย ปูนซีเมนต์ เหล็ก หลังคา ฝา ฝ้า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมาจากการผลิตซึ่งใช้พลังงาน มีโพรเซสในการทำงานทั้งสิ้น ทำให้เกิดเรื่องของโลกร้อนขึ้นมาได้ด้วย

วงจรชีวิตของการก่อสร้างมีตั้งแต่การนำทรัพยากรต่าง ๆ ถัดมาคือการขนส่งถึงหน้างานก่อสร้าง เกิดกระบวนการก่อสร้างต่าง ๆ แล้วก็มาถึงกระบวนการใช้งานที่เป็นสีเขียว มีการใช้ไฟฟ้า ใช้พลังงาน ใช้น้ำ ระหว่างนั้นก็มีการซ่อมแซม ใช้วัสดุก่อสร้าง จนกระทั่งอาคารเสร็จ จากนั้นมีการบำรุงรักษา มีเรื่องการทำลาย นำวัสดุไปกำจัด

ทุกขั้นตอนการทำงานจะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ แบ่งเป็น 2 ตัว 1.embodied carbon คาร์บอนที่มากับวัตถุดิบที่นำมาทำการก่อสร้าง 2.operation of carbon คาร์บอนที่เกิดจากการใช้งานอาคาร รวมกันคือตัวคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด

ข้อมูลที่มีการรีพอร์ตในระดับโลก บอกว่า operation of carbon เกิดจากการใช้งานอยู่ที่ 27% ของ CO2 แต่ละปี ส่วน embodied carbon อยู่ที่ 13% หรือเท่ากับ 40% ของทั้งโลก ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ทั้งนี้ UN กำหนดไทม์ไลน์สู่เป้าหมาย Net Zero Carbon ในส่วนของ operation of carbon ต้องเป็นศูนย์, embodied carbon อยู่ที่ 40% ในปี 2030 และเป้าหมายระยะยาวในปี 2050 ทั้ง operation of carbon และ embodied carbon ต้องเป็นศูนย์ทั้งคู่

เป้ายิ่งใหญ่เริ่มต้นที่การออกแบบ

สำหรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทยมีการจัดทำแผนเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งมีหลายระดับในการลด CO2 ของอุตฯปูนซีเมนต์ เช่น นำวัสดุทดแทนมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ ทดแทนปูนเม็ดเป็นไฮดรอลิกซีเมนต์ การใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส อาร์ดีเอฟทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

โฟกัสในส่วนของ SCG เราเป็นสมาชิก “GCCA-สมาคมผู้ผลิตปูนซีเมนต์ระดับโลก” ประกาศแผนจะเป็น Net Zero ในปี 2050 ดังนั้น พอเรารับโจทย์ตรงนี้มาก็มาทำแผนว่าในปี 2050 เราจะเป็น net zero ได้ยังไง

จะเห็นว่าอุตฯปูนซีเมนต์ของประเทศไทยวางเป้าเนตซีโร่ในปี 2065 ดังนั้น แผนของ UN จะเร็วกว่าของไทย โดยปี 2030 ไทยตั้งเป้าลดไว้ 50% เทียบกับแผน UN ตั้งเป้าลดอยู่ที่ 40% ซึ่งการก่อสร้างเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมซีเมนต์และการก่อสร้างของประเทศไทย

การที่เราจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการก่อสร้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องถูกระบุหรือถูกกำหนดไว้ในการออกแบบตั้งแต่ต้น เช่น เราอยากได้อาคารลดโลกร้อนก็ต้องดีไซน์ตั้งแต่ต้นว่าอยากได้อาคารแบบไหน วัสดุ วิธีการก่อสร้างเป็นอย่างไร หากมาปรับแก้ระหว่างก่อสร้างจะแก้ไขยาก

นวัตกรรม “กรีนคอนสตรักชั่น”

ถัดมา “วีรกร สายเทพ” Finance and Strategic Planning Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เอสซีจี เปิดมุมมองธุรกิจกรีนคอนสตรักชั่นจะมาช่วยในส่วนของการลดโลกร้อนอย่างไรบ้าง พบว่า “CGS-ซีเมนต์ แอนด์ กรีนโซลูชั่น” มีสัดส่วนรายได้ 27% ในส่วนของการออกแบบและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในการช่วยลดโลกร้อน และประหยัดพลังงาน อีกส่วนหนึ่งคือการใช้โลว์คาร์บอนโปรดักต์

ซึ่ง embodied carbon มีทั้งโปรดักต์ คอนสตรักชั่นมีกรีนโพรเซส นั่นคือเรามีกรีนโปรดักต์และกรีนโพรเซส โดย SCG Green Choice นำเสนอทั้งวัสดุที่เป็นโลว์คาร์บอนโปรดักต์ ทั้งซีเมนต์และคอนกรีต วัสดุช่วยประหยัดพลังงาน กันความร้อน วัสดุที่มีระบบบำบัดอากาศทำให้บ้านเย็น วัสดุฉนวนกันความร้อน วัสดุที่ใช้รีไซเคิลคอนเทนต์เข้าไปผสมเพื่อลดการใช้ทรัพยากร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน

ยกตัวอย่าง ซีเมนต์ไฮดรอลิกที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ปูนลดโลกร้อน” เป็นปูนซีเมนต์ที่เราผลิตขึ้นมาชื่อไฮดรอลิกซีเมนต์ 1 ตันลดได้ 50 กิโลกรัม ที่ผ่านมาเราตั้งเป้าลดได้ 600,000 ตัน เทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ 60 ล้านต้น ภายในปี 2023 เราตั้งเป้าอีก 1 ล้านตัน โดยร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อีกตัวหนึ่งคือ “คอนกรีตรักษ์โลก” เป็นคอนกรีตที่ใช้ในโครงการก่อสร้าง ปกติปริมาณ 1 คิวที่ใช้ตอนนี้ลดได้ 17 กิโลกรัม หรือโลว์คาร์บอนคอนกรีต ซึ่งการันตีว่าคุณภาพเทียบเท่ากับคอนกรีตปกติ

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่หลากหลายที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบัน อาทิ แนวคิดการ turn waste to value โดยใช้โมเดล CPAC BIM Platform ที่เราพัฒนาขึ้นมา ร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้น ลดข้อผิดพลาดจากการสื่อสาร ทำให้ทีมงานทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ไม่ให้เกิดการทุบทิ้งหรือต้องมาสร้างใหม่ มีการใช้แล้วใน 23 ศูนย์ซีแพคทั่วประเทศ

มีการใช้เทคโนโลยีโดรนรีซัลต์ เป็นตัวช่วยในการเซอร์เวย์ ทำให้สามารถหมุนตึกในดิจิทัลได้ แสงเงา-แดดอ้อมเป็นอย่างไร ออกแบบอย่างไรไม่ให้ร้อน, เทคโนโลยี 3D Printing โดยนำ 3D ไปรวมกับ BIM-Building Information Modeling เพื่อให้ออกแบบและสามารถพรินต์ได้เลย ข้อดีของการทำ 3D คือแทบจะไม่มี waste เลย เพราะทุกอย่างพรินต์ได้ ซึ่งการพรินต์เป็นแบบฟรีฟอร์ม จะออกแบบโค้งยังไงก็ได้ และทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องใช้คน พอถึงเวลาเราก็ไปตรวจ

ถัดมาคือการใช้ทรัพยากร เราได้รับรางวัลจากสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาคม ACI ของอเมริกา ให้เป็นสะพานระดับโกลด์ ใช้ทั้งตัวดิจิทัลออกแบบ ควบคุม ใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวแอดวานซ์แมทีเรียล ทำให้วัสดุบางและช่วยลดการใช้ทรัพยากร ไม่ต้องมีเสา ที่สำคัญการบำรุงรักษาง่าย เพราะมีสมรรถนะที่ดี ทำให้ก่อสร้างได้ง่าย ทำแบบหล่อข้างนอกแล้วยกมาติดตั้ง ใช้เวลาติดตั้งแค่ 3 วัน

ทั้งหมดนี้คืออัพเดตกรีนโปรดักต์และกรีนโพรเซสที่เปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง เปลี่ยนวิธีทำงานร่วมกันกับคนในทีมอีโคซิสเต็ม

3 นวัตกรรมลิฟวิ่ง-ใช้งานจริง

สำหรับหัวข้อ “SMART Living ธุรกิจเพื่อชีวิตอนาคต” ทางผู้บริหารเอสซีจี “วชิระชัย คูนำวัฒนา” Head of Living Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า หลังยุคโควิดสังคมเปลี่ยนไปเยอะ ชีวิตของเราก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย

นวัตกรรมแรก “อากาศ” ในช่วงโควิดมี SCG Bi-ion นวัตกรรมใช้ฆ่าเชื้อในอากาศ สำนักงานใหญ่เอสซีจีทั้งหมดติดตั้ง Bi-ion เรียบร้อยแล้ว ช่วยเรื่องการปกป้องความปลอดภัยอากาศที่เราสูดเข้าไป ตัวเล็กจะติดอยู่ตามหน้ากากแอร์ ตัวใหญ่ติดตั้งในท่อหรือตัว HU ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ วิธีทำงานจะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาแล้วทำให้อากาศออกซิเจนกลายเป็นประจุบวก-ประจุลบ ช่วยในการฆ่าเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ 99% ไม่มีโอโซนเป็นสารพิษออกมา

วชิระชัย คูนำวัฒนา
วชิระชัย คูนำวัฒนา

ทั้งมีการติดตั้งแดชบอร์ด วัดคุณภาพอากาศ ถ้าสังเกตจะเห็นตัววัดปริมาณไอออน จะบอกว่าไอออนที่เกิดขึ้นในธรรมชาติในป่ามีอยู่แล้ว ยิ่งสูงยิ่งดี มันคือประจุบวกกับลบของออกซิเจนที่อยู่ในอากาศ จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อและกำจัดฝุ่นด้วย ซึ่งจะเห็นจากตัววัดว่าไอออนที่ติดตั้งในตึกจะสูงกว่าไอออนข้างนอก ทำให้ PM 2.5 ต่ำกว่าด้วย คุณภาพอากาศก็จะดีกว่า เป็นตัวนวัตกรรมแรกที่เกี่ยวข้องกับอากาศที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของเราในยุคที่เปลี่ยนไป

นวัตกรรมที่ 2 “ประหยัดพลังงาน” หลังยุคโควิดเราเจอปัญหาพลังงานขึ้น ค่าไฟขึ้น โลกร้อน วิธีการรับมือก็คือเรื่องของการประหยัดพลังงานมีนวัตกรรม HVAC Air Scrubber ทำแล้วได้ 2 ต่อ ได้เรื่องคุณภาพอากาศและพลังงาน จะทำการฟอกอากาศในตึก ลดคาร์บอนไดออกไซด์สะสม ความจำเป็นที่จะต้องเอาอากาศข้างนอกเข้ามาระบายก็น้อยลง อากาศข้างนอกมีความร้อน ความชื้น ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ถ้าตรงนี้ลดลงได้ก็ประหยัด

ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่เอสซีจีติดตั้งหมดแล้ว ตอนออกแบบและก่อสร้างเป็นอาคารเขียว ได้ LEED Platinum อยู่แล้ว เพิ่มเติมคือประหยัดค่าไฟจากค่าแอร์ลงได้อีก 30% จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีก็คุ้มค่าในการลงทุน คำนวณสำนักงานใหญ่ 3 ตึก ลดได้ 30% เทียบเท่าลดการปล่อย CO2 ปีละ 530 ตัน และเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 325,000 ต้น

นวัตกรรมที่ 3 “สุขภาพและความปลอดภัย” มีนวัตกรรม DoCare ดูแลความปลอดภัยของผู้สูงอายุกับเรื่องของสุขภาพที่เรียกว่า “Anywhere Safety” เวลาผู้สูงอายุออกไปเดินนอกบ้านก็เอาคล้องคอไว้ ถ้าหกล้มเราสามารถบอกได้ว่าล้มไปแล้ว มันจะส่งสัญญาณเรียกรถพยาบาลมารับได้ ส่งข้อมูลออกมาที่มือถือของเราให้เห็นด้วยว่าเกิดเหตุแล้วนะ จะมีปุ่มกดด้วย บางทีอาจไม่ได้ล้มแต่รู้สึกไม่สบายก็กดได้เลย อุปกรณ์จะโทร.ออกไปหาคอลเซ็นเตอร์ เราจะคอนแท็กต์ไว้กับศูนย์เรียกรถพยาบาล มีคนคอยดูแล 24 ชั่วโมง

ทั้ง 3 นวัตกรรมนี้มีการใช้งานจริงแล้ว และได้ช่วยคนไป 100 เคสแล้ว

กฎเหล็ก 3 ข้อ “สมาร์ทเอสซีจี”

สุดท้าย “อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า smart living ทาง SCG ตีโจทย์ให้ลึกซึ้ง คำว่า smart อย่างน้อยต้องมี 3 อย่าง 1.เทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาดช่วยดูแลชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ 2.ต้องมีความเป็นมิตร ต้องให้ทุกคนเข้าถึงได้ 3.smart เทคโนโลยีของเราหน้าตาไม่เหมือนกับคนอื่น

อภิรัตน์ หวานชะเอม
อภิรัตน์ หวานชะเอม

นั่นคือ smart living, smart technology ของ SCG จะเป็นเวอร์ชั่นที่เฟรนด์ลี่

ตัวอย่าง “smart calculator” สามารถถอดสมการได้ ข้างในเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่าออฟไลน์เอ็นแอลพี เหมือนสิริแต่ไม่ต้องมีคลาวด์ ดีไซน์เป็นมิตร เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ต เป็นผลิตภัณฑ์จริง ใช้หัตถกรรมไทย ปี 2566 เราหวังว่าจะมีแบรนด์คนไทยทำส่งออก หน้าตาไม่เหมือนคนอื่น แต่หน้าตาเหมือนคนไทย ไม่น่ากลัว เฟรนด์ลี่ สัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นไม้ แต่ว่าซ่อนไว้ด้วยความไฮเทค ที่สำคัญต้องใช้ได้โดยทุกคน รวมถึงคนตาบอด คนที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย

นอกจากนี้มี smart tagger เราสามารถทราบว่าใครอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ถ้าเราประสบปัญหา เรากดปุ่มนี้คนก็จะรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ความช่วยเหลือก็จะมาถึง สำหรับผู้สูงอายุถ้าเรากังวล คุณแม่ คุณพ่อเป็นอัลไซเมอร์ ถ้าไม่ยอมใส่ smart watch เราสามารถทำเป็นแหวน กำไล ดูสวยงาม แต่เราใส่เครื่องติดตาม เราจะรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ไหนก็ได้

The Next Chapter ประเทศไทย

เรามองว่า Next Chapter ของ SCG คือการที่เราอยากจะดูแลชีวิตลูกค้าให้มีความสุข เราเคยดูแลอย่างดีในด้านที่อยู่อาศัย ในอนาคตเราอยากดูแลชีวิตทั้งชีวิตเลย ไม่ใช่เฉพาะที่อยู่อาศัย เราจะเริ่มจากการออกแบบก่อน ต้องเข้าใจชีวิตคนก่อน ทำให้เฟรนด์ลี่ก่อน แล้วก็เรากำลังเข้าสู่ยุค IOT-internet of things มันคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่หน้าตาไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ สามารถอยู่บนตัวเราได้อย่าง smart watch

ความภูมิใจคืออันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปีที่ SCG ไปออกงาน Techsauce Global Summit ที่ผ่านมาในปี 2565, งาน Sustainability Expo เรานำเสนอว่าเทคโนโลยีของเราไม่ได้มีไว้ไฮเทค แต่มีไว้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าขึ้น เรามี “ก๊อกน้ำพูดได้” ช่วยสร้างจิตสำนึกมนุษย์ว่าคุณช่วยใช้น้ำประหยัดหน่อย

เรามีอุปกรณ์ wellness ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องรักษาด้วยซ้ำ รู้ด้วยว่าตอนนี้เราใกล้จะป่วยไหม คุณพ่อคุณแม่ล้มแล้วรู้ว่าล้ม ล้มแล้วก็สายไปแล้ว ทำยังไงจะไม่ล้ม เราก็มีเทคโนโลยีชื่อเนเวอร์ฟลอร์ ที่สามารถบอกว่าคุณตาคุณยายเรามีโอกาสจะล้มรึเปล่า เป็นต้น

“เราก็หวังว่ามันจะไม่ใช่แค่ The Next Chapter ของ SCG เท่านั้น ต้องเป็น The Next Chapter ของประเทศไทยด้วย”