ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คอนเฟิร์ม ปี’66 บ้าน-คอนโด ไม่ได้สดใสอย่างที่คิด

ดร.วิชัย วิรัตกพันธุ์

REIC เผย อสังหาฯ ไตรมาส 1/66 ซัพพลายชะลอตัวชัดเจน มูลค่าเปิดขายใหม่ -38.7% สวนทางกับดีมานด์ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนทำให้มูลค่าโอนโต 7.9% สินเชื่อใหม่โต 6.4% เทรนด์ปี 2566 ปัจจัยลบกดดันตลาดหดตัว คาดการณ์หน่วยโอน -10.2% มูลค่าโอน -4.5% สินเชื่อปล่อยใหม่ -6.8% ใบอนุญาตจัดสรร -9.3% เปิดตัวโครงการใหม่หน่วย -10.5% มูลค่า -8.2%

16 พฤษภาคม 2566 ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีปัจจัยลบหลายด้าน

ทั้งการยกเลิกผ่อนปรน LTV ของ ธปท. ทำให้การขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 2-3 ถูกบังคับเงินดาวน์แพง หนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 90% ของ GDP แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ความสามารถในการผ่อนชำระลดลง กระทบต่อยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และยอดการปล่อยสินเชื่อ

Q1/66 ใบอนุญาตจัดสรร “บ้านแฝด” โต “บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์” ติดลบ

REIC ประเมินสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 1/66 โดยในส่วนของซัพพลายการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศมีจำนวน 15,267 หน่วย ลดลง -13.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 ดังนี้

“ทาวน์เฮาส์” มีการออกใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุด 6,290 หน่วย สัดส่วน 41.2% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 4,992 หน่วย สัดส่วน 32.7% บ้านแฝด 3,233 หน่วย สัดส่วน 21.2%

ทั้งนี้ มีเพียงบ้านแฝดที่ขยายตัว 2.9% แต่บ้านเดี่ยวลดลง -17.8% และทาวน์เฮาส์ลดลง -10.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 แสดงให้เห็นการปรับตัวของกำลังซื้อที่เพิ่มไม่ทันกับต้นทุนพัฒนาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น

Q1/66 บ้านเดี่ยวราคา 15 ล้าน เปิดขายใหม่โต 180%

ภาพรวมหน่วยบ้านแนวราบที่เปิดตัวใหม่ “บ้านเดี่ยว” ลดลง -38.4% ขณะที่กลุ่มราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป เปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 180.9% กลุ่มราคา 2.5-3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.5% และบ้านแฝด ลดลง -47.2% โดยลดลงในทุกระดับราคา

สินค้า “ทาวน์เฮาส์” ภาพรวมลดลงมากสุด -62.9% ในขณะที่กลุ่มราคา 5-20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.8% กับกลุ่มราคา 1.25-1.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8%

สินค้า “อาคารพาณิชย์” ลดลง -86.5% โดยกลุ่มราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ไม่มีหน่วยเปิดตัวใหม่ ขณะที่กลุ่มราคา 15-20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.0% และราคา 10-15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8%

Q1/66 ดีเวลอปเปอร์แตะเบรกคอนโดฯ ลงทุนลด -61%

สำหรับหน่วยเปิดตัวใหม่ของโครงการอาคารชุด มีจำนวน 7,260 หน่วย ลดลง -61.5% ดังนี้

แบบห้องสตูดิโอ ลดลง -68.3% โดยกลุ่มราคา 1.51-1.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 233.3% กลุ่มราคา 1.75-2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.6% กลุ่มราคา 1.25-1.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.1%

แบบ 1 ห้องนอน ลดลง -54.4% โดยกลุ่มราคา 1-1.25 ล้านบาท 160.9%

แบบ 2 ห้องนอน ภาพรวมลดลง -83.0% โดยลดลงในทุกระดับราคา

REIC แถลงข่าว

Q1/66 หน่วยโอนทรงตัว มูลค่าโอนเพิ่ม 7.9% เพราะสินค้าราคาแพงขึ้น

ด้านดีมานด์ในไตรมาส 1/66 มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 84,619 หน่วย ลดลง -0.8% มูลค่าโอน  241,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% ประกอบด้วย

การโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบ 60,950 หน่วย ลดลง -6.8% มูลค่า 170,686 ล้านบาท ลดลง -0.3%

ในขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีจำนวน 23,669 หน่วย เพิ่มขึ้น 18.7% มูลค่า 70,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.7%

ทั้งนี้ พบว่า

  • ระดับราคา 3-5 ล้านบาท สัดส่วน 15% มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1%
  • ระดับราคา 5-7.5 ล้านบาท สัดส่วน 9% เพิ่มขึ้น 17.5%
  • ระดับราคา 7.5-10 ล้านบาท สัดส่วน 1% เพิ่มขึ้น 34.1%
  • ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัดส่วน 3% เพิ่มขึ้น 6%

ส่วนระดับราคาที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่

  • ระดับราคา 2-3 ล้านบาท สัดส่วน 1% มีจำนวนเพิ่มขึ้น 0.4%
  • ระดับราคา 3-5 ล้านบาท สัดส่วน 4% เพิ่มขึ้น 12.2%
  • ระดับราคา 5-7.5 ล้านบาท สัดส่วน 5% เพิ่มขึ้น 17.6%
  • ระดับราคา 7.5-10 ล้านบาท สัดส่วน 5% เพิ่มขึ้น 34.8%
  • ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัดส่วน 20% เพิ่มขึ้น 9%

Q1/66 หน่วยโอนต่างชาติเพิ่ม 79% มูลค่าโอนเพิ่ม 67%

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงไตรมาส 1/66 หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติมีจำนวน 3,775 หน่วย มูลค่า 17,128 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 79% มูลค่าเพิ่มขึ้น 67.6% เทียบกับไตรมาส 1/65 ที่มีจำนวน 2,107 มูลค่า 10,217 ล้านบาท

โดยลูกค้าจีนมีการโอนสูงสุด 1,747 หน่วย สัดส่วน 46% มูลค่า 8,191 ล้านบาท สัดส่วน 48% ของมูลค่าโอนของคนต่างชาติทั้งหมด

ในด้านข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ พบว่า ไตรมาส 1/66 มีมูลค่า 152,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เทียบกับไตรมาส 1/65 ที่มีจำนวน 143,571 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศ 4,775,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เทียบกับปีก่อนที่มีจำนวน 4,539,391 ล้านบาท

เทรนด์ 2566 ใบอนุญาตจัดสรร กทม.-ทั่วประเทศ -10% บวกลบ

REIC คาดการณ์ว่าจะมีซัพพลายและดีมานด์ในปี 2566 ดังนี้

“ซัพพลายที่อยู่อาศัย ปี 2566” แนวโน้มการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ จำนวน 78,269 หน่วย ลดลง -9.3% (ต่ำสุดถึงสูงสุดอยู่ในช่วง -18.4% ถึง -0.2%) เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีสถิติ 86,275 หน่วย

“ซัพพลายเปิดตัวใหม่ กทม.-ปริมณฑล” คาดการณ์มีจำนวน 98,132 หน่วย ลดลง -10.5%% (ต่ำสุดถึงสูงสุดอยู่ในช่วง -19.4% ถึง -1.5% มูลค่า 505,235 ล้านบาท ลดลง -8.2% หรืออยู่ในช่วง -22.0% ถึง 0.9% เทียบกับปี 2565 ที่มีสถิติ 109,591 หน่วย มูลค่า 550,552 ล้านบาท

เทรนด์ 2566 การโอนบ้านแนวราบ-คอนโดฯเป็นเส้นกราฟขาลง

“ดีมานด์ที่อยู่อาศัย ปี 2566” แนวโน้มมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 352,761 หน่วย ลดลง -10.2% มูลค่าโอน 1,016,838 ล้านบาท ลดลง -4.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีหน่วยโอน 392,858 หน่วย มูลค่า 1,065,008 ล้านบาท

แบ่งเป็นการโอนบ้านแนวราบ 264,571 หน่วย ลดลง -7.4% มูลค่า 753,628 ล้านบาท ลดลง -2.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 285,731 หน่วย มูลค่า 776,523 ล้านบาท

การโอนอาคารชุด 88,190 หน่วย ลดลง -17.7% จากปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 107,127 หน่วย มูลค่า 288,485 ล้านบาท

เทรนด์ 2566 สินเชื่อปล่อยใหม่หดตัวอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท

ด้านภาพรวมสินเชื่อปล่อยใหม่ทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีมูลค่า 650,764 ล้านบาท ลดลง -6.8% หรืออยู่ในช่วง -16.1% ถึง 2.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีสถิติ 698,072 ล้านบาท

โดยคาดว่า ปี 2566 จะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4,955,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% หรืออยู่ในช่วง -5.9% ถึง 9.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีสถิติ 4,741,215 ล้านบาท