“กรมทางหลวง” ศึกษาก่อสร้างทางยกระดับ 4 เลน แยกอินทร์บุรีข้ามถนนสายเอเชียลดอุบัติเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32 กับทางหลวงหมายเลข 3275 (แยกอินทร์บุรี) จ.สิงห์บุรี

เนื่องจากบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32 กับทางหลวงหมายเลข 3275 (แยกอินทร์บุรี) เป็นจุดตัดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีการควบคุมและจัดการความปลอดภัยด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและติดขัด

ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวง อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการจราจร รวมทั้งลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง กรมทางหลวงได้มีแนวทางแก้ปัญหาบริเวณทางแยกที่มีปัญหาการจราจร โดยการศึกษาและออกแบบเป็นทางต่างระดับเพื่อให้การจราจรบริเวณจุดตัด มีลักษณะการไหลอิสระ โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจและออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จปลายปี 2561

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นรูปแบบทางหลวงแนวใหม่ เพื่อเชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 3283 ที่ กม.0+400 บริเวณหน้าพูลผลการ์เด้น ระยะทาง 0.71 กิโลเมตร มีเขตทางกว้าง 40 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร

รูปแบบทางต่างระดับเป็นทางยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนเอเชีย) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงแนวใหม่ กับทางหลวงหมายเลข 3275 ทางขึ้นลงจะถึงก่อนคลองชลประทานประมาณ 20 เมตร โครงสร้างเป็นแบบคานกล่องสำเร็จรูป ระยะทางประมาณ 0.6 กิโลเมตร ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.2 เมตร

รูปแบบจุดกลับรถ มี 2 รูปแบบ คือ สะพานกลับรถรูปเกือกม้า บนทางหลวงหมายเลข 32 กม.102+500 เพื่อรับรถที่มาจากนครสวรรค์หรือเข้าอำเภออินทร์บุรี และจุดกลับรถระดับดิน บนทางหลวงหมายเลข 3275 กม.0+500

รูปแบบการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 3275 เดิมเป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ตามมาตรฐานชั้นทาง มีทางเท้าและท่อระบายน้ำ ตามยาวทั้ง 2 ฝั่งทาง โดยเริ่มต้นที่ กม.0+000 – กม.0+700 ระยะทางประมาณ 0.7 กิโลเมตร และทำการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 3283 ให้เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ตามมาตรฐานชั้นทาง โดยเริ่มต้นที่ กม.0+000 – กม.0+800 ระยะทางประมาณ 0.8 กิโลเมตร

เมื่อศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ กรมทางหลวงจะดำเนินการวิเคราะห์โครงการแผนการลงทุนและสำรวจและออกแบบ รวมถึงเสนอของบประมาณในการก่อสร้างประมาณปี 2564 โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมด้านการค้าและด้านการลงทุน ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดสิงห์บุรีได้อย่างเป็นรูปธรรม