1 ปีที่รอคอย นับหนึ่งสัญญารถไฟฟ้าเหลือง-ชมพู ทางหลวงเปิดทางใช้ถนน”ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-ศรีนครินทร์”

1 ปีที่รอคอย นับหนึ่งสัญญารถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพู ทางหลวงเปิดทางใช้ถนน”ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-ศรีนครินทร์” พร้อมเปิดหวูด ต.ค.64

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2561 กรมทางหลวงและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง การอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีชมพูแคราย-มีนบุรี เพื่อให้กลุ่มกิจการร่วมค้าBSR (บมจ.บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) เข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการ เพื่อให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่เซ็นสัญญาได้วกับเอกชน

“วันนี้ส่งมอบพื้นที่ 100% ในส่วนของกรมทางหลวง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งโครงการรถไฟฟ้า 2 สายทาง หลังจากที่รอกันมานาน ซึ่งได้กำชับให้ทั้งกรมทางหลวง และ รฟม.ให้ดำเนินการโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ถนนที่อยู่ในแนวเส้นทาง”

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างของสายสีชมพูที่กรมจะส่งมอบให้ รฟม. คือ ถนนติวานนท์ ถนนจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทราตลอดสาย ส่วนสายสีเหลืองเป็นช่วงถนนศรีนครินทร์ตอนปลายๆ ประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ และจุดที่จะสร้างอาคารจอดแล้วจรบริเวณแยกเทพารักษ์และจุดกับถนนบางนา-ตราด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการหารือถึงแบบก่อสร้างและจุดที่ตั้งของสถานีมาตลอด จะมีปรับบ้างเล็กน้อย เช่น ปรับตอม่อให้สอดรับกับจุดกลับรถบนถนนติวานนท์ เป็นต้น

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม.กล่าวว่า ภายในวันที่ 29 มิ.ย.2561 นี้ จะทำหนังสือแจ้งให้บีทีเอสเพื่อเริ่มนับหนึ่งสัญญาก่อสร้าง เนื่องจากจะต้องรอกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุญาตให้ใช้พื้นที่ถนนลาดพร้าวให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างและเปิดใช้บริการพร้อมกันทั้ง 2 เส้นทาง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 39 เดือน และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.2564 ล่าช้าจากแผนเดิมประมาณ 3 เดือน เนื่องจากติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่

สำหรับความก้าวหน้าส่วนต่อขยายสายสีชมพูจากศรีรัช-เมืองทองธานี และสีเหลืองจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ที่กลุ่มบีทีเอสยื่นเสนอการลงทุนเข้ามานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น และทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมถึงเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) บรรจุไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายที่เพิ่มเติมเข้ามา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 ทั้งนี้หากล่าช้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างสายสีชมพูลและสีเหลืองแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองได้มีการเซ็นสัญญากับกลุ่ม BSR ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 ถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลาร่วม 1 ปีที่จะมีข้อยุติเรื่องส่งมอบพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างอย่างจริงจัง