ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จุดพลุแจ้งเกิดโครงการมีเอกชนไทย-เทศให้ความสนใจลงทุนอย่างคึกคัก
ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน-ญี่ปุ่น ก็มีความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท
หลังรัฐบาลทหารพลิกประวัติศาสตร์ประเทศไทย กดปุ่มก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ในช่วงแรกจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.
ความคืบหน้าล่าสุดหลัง “ทล.-กรมทางหลวง” รับหน้าเสื่อถมคันดินก่อสร้างโครงสร้างทางยกระดับ ด้วยวงเงิน 425 ล้านบาท กำลังเร่งรัดงานก่อสร้างให้เสร็จในเดือน ต.ค.นี้ ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 20% ซึ่งยังล่าช้าจากแผนงาน
ส่วนการก่อสร้างที่เหลือ “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า วันที่ 7-9 ส.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 25 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พิจารณาแบบรายละเอียดก่อสร้างที่ฝ่ายจีนยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 12 ตอน จากทั้งโครงการแบ่งสร้าง 14 ตอน
ล่าสุดฝ่ายจีนได้ส่งแบบรายละเอียดตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ให้พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างคำนวณราคากลางและร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ร.ฟ.ท.อนุมัติและเปิดประมูลได้ในเดือน ส.ค. และเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ย. 2561
แหล่งข่าว ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ฝ่ายจีนอยู่ระหว่างออกแบบสัญญาที่ 3 เป็นงานอุโมงค์ทั้งหมดช่วงสถานีจันทึก-สถานีคลองไผ่ รวมระยะทาง 20 กม. จึงทำให้มูลค่าก่อสร้างสูงมากกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมส่งให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้ ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 ร.ฟ.ท.จะสามารถเปิดประมูลสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ซึ่งมีเงินลงทุนรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท
ส่วนรายละเอียดการออกแบบที่เหลืออีก 11 สัญญา เงินลงทุนรวมกว่า 110,000 ล้านบาทนั้น ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนส่งแบบทั้งหมดมาภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อถอดแบบร่างทีโออาร์และประมูล
ต่อไปภายในปีนี้ โดยจะเริ่มถอดแบบเฟส 1 ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้เพื่อทยอยเปิดประมูลสัญญาที่เหลือให้ครบทั้งเส้น ทั้งนี้ยืนยันว่าระยะเวลาในการถอดแบบคิดราคาและร่างทีโออาร์ในแต่ละสัญญานั้นใช้เวลาไม่นาน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีการเปิดประมูลงานก่อสร้างเฟส 1 อีกมาก จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตอน จะประมูลกลุ่มแรก 6 ตอนในเดือน ก.ย.นี้ เริ่มสร้างเดือน มี.ค. 2562 และประมูลกลุ่มที่ 2 อีก 6 ตอนในเดือน พ.ย.นี้เริ่มสร้างเดือน เม.ย. 2562
ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. ฝ่ายไทยจะดำเนินการเองทั้งศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียด มีจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยและขอมีส่วนร่วมแบบรายละเอียดและตัวรถ ทั้งนี้ไทยจะเร่งศึกษาให้เสร็จในปี 2561 เริ่มสร้างปี 2562 เพื่อเปิดบริการพร้อมกันทั้งโครงการในปี 2566
ด้านความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. นายวรวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นอยู่ โดยพบปัญหาโครงการมีผลตอบแทนที่ยังน้อยอยู่ และประเมินผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการยังมีไม่มากเฉลี่ยอยู่ที่ 29,000 เที่ยวคน/วัน
จึงต้องหาที่ดินสำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีหรือทำ TOD เสริมเข้าไปด้วย เบื้องต้นกำหนดที่ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการขยายตัว เป็นเมืองท่องเที่ยวและเชื่อมต่อไปยังสุโขทัยได้ แต่จะต้องใช้งบประมาณซื้อที่เพิ่ม เพราะที่ ร.ฟ.ท.มีอยู่เดิมมีไม่พอ อีกทั้งยังมีตลาดพิษณุโลกและชุมชนอาศัยอยู่บนที่ดินเป็นจำนวนมาก หากเวนคืนอาจจะมีการต่อต้านจากชาวบ้านได้ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2563-2564 จะใช้ระบบเทคโนโลยีของชินคันเซ็น ซึ่งฝ่ายไทยกำลังเจรจาให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนโครงการด้วย ทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนกว่า 276,225 ล้านบาท