ทอท.รีวิวแบบส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารเดิม หวั่นทำลายสถาปัตยกรรมแสนล้าน ย้ำผุดเทอร์มินอล 2 ไม่เกี่ยวคิงเพาเวอร์

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิขยายวงกว้างมากจากการประกวดแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นำมาสู่การปรับแผนแม่บทหรือมาสเตอร์แพลน ที่ว่าไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทเดิมที่ออกไว้เมื่อปี 2536 ล่าสุดมีขยายประเด็นไปสู่เรื่องของพื้นที่ดิวตี้ฟรีของบริษัท คิงเพาเวอร์

ทอท.ขอยืนยันว่าการปรับปรุงแผนแม่บททั้ง 5 ครั้ง คือ ปี 2536 ปี 2546 ปี 2552 ปี 2554 และล่าสุดปี 2561 ดำเนินการภายใต้คำแนะนำของ ICAO ดูปัจจุบันทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายที่จะเป็น single airport หรือ dual airport ความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากแผนแม่บทเดิมแต่อย่างใด การพัฒนายังคงแนวเหนือ-ใต้ มีทางวิ่ง 4 รันเวย์

“แต่เป็นการปรับปรุงให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเฉลี่ย 60 ล้านคนต่อปี เกินจากขีดความสามารถที่รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี จึงเพิ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 แทรกขึ้นมาโดยสร้างบพื้นที่ว่างเปล่าจะทำให้สร้างได้เร็วขึ้น เพื่อช่วยลดความแออัดของอาคารปัจจุบันที่มีผู้โดยสารรายชั่วโมงอยู่ที่ 7,949 คนต่อชั่วโมงในช่วงพีค 7.50 น. นอกจากนี้จะทำให้ผู้โดยสารผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น เพราะจะเปลี่ยนลานจอดระยะไกลมาเป็นประชิดอาคารทั้งหมด เพราะสร้างหลุมจอดเพิ่ม 14 หลุมจอด”

นายเอนกกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารเดิมในฝั่งตะวันตก หรือ West Expansion และฝั่งตะวันออก หรือ East Expansion ที่จะรับผู้โดยสารได้อีกฝั่งละ 15 ล้านคนต่อปีนั้น ทางทอท.จะดำเนินการอย่างแน่นอน โดยจะเริ่มจากฝั่งตะวันตกก่อน โดยโครงการอยู่ในเฟส 2 เนื่องจากมีผลกระทบในช่วงระหว่างก่อสร้างน้อยที่สุด คาดว่าจะประมูลก่อสร้างภายในต้นปี 2562 -2565 วงเงิน 6,942 ล้านบาท ส่วนฝั่งตะวันออกจะดำเนินการในเฟสที่ 4 ช่วงปี 2564-2569

“แต่การดำเนินการเราต้องเดินหน้าส่วนที่สร้างได้ง่ายก่อน จากนั้นถึงจะมาเริ่มส่วนที่เป็นของยาก ซึ่งหากขยายฝั่งตะวันออกก่อนจะต้องเจาะกระจก รื้อบันไดเลื่อน พื้นที่เช็กอินของการบินไทย จะทำให้วุ่นวายเพราะต้องขนวัสดุก่อสร้างจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนมาใช้บริการหนาแน่น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับพื้นที่ซิตี้การ์เด้นท์ ที่คิงเพาเวอร์ได้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์ จำนวน 2,000 ตร.ม.อย่างแน่นอน ต่อไปจะต้องรื้อ เพราะจะเป็นสถานีจอดของรถไฟฟ้า APM หลังจากขยายพื้นที่ฝั่งตะวันตกเสร็จเรียบร้อยแล้ว”

สาเหตุที่ยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากแผนแม่บทเดิมสร้างโครงสร้างหลังคาเผื่อไว้ให้จริง แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้ว ไม่สามารถจะต่อเติมได้ เพราะโครงสร้างไม่แข็งแรงพอจะต้องสร้างอาคารอีกหลังขึ้นมาและสร้างหลังคาสอดเข้าไปใต้อาคารเดิม ซึ่งจะทำลายสถาปัตยกรรมที่ลงทุนไปแสนล้านบาท ซึ่ง ทอท.อยู่ระหว่างให้ทางที่ปรึกษารีวิวแบบก่อสร้างทั้ง 2 ฝั่งใหม่ ก่อนที่จะประมูลก่อสร้าง เริ่มฝั่งตะวันตกก่อน โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษารายเดิมที่ออกแบบอาคารปัจจุบัน วงเงิน 50 ล้านบาท จะเสร็จใน 3-4 เดือน เพื่อเปิดประมูลในปี 2562

ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาครบทั้ง 3 เฟส จะทำให้ในปี 2565 มีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จำนวน 1 อาคาร รองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี และมีหลุมจอด 93 หลุมจอด จากปัจจุบันมี 51 หลุมจอด และการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ไม่เป็นการสูญเปล่า แต่เป็นการสร้างสมดุลเรื่องของการบริหารพื้นที่ ภายใต้งบลงทุนที่ไม่มาก 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายในกรอบวงเงินนี้จะมีทั้งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รถไฟฟ้า APM 2 เส้นทางที่จะเชื่อมการเดินทางระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังเก่ากับหลังใหม่ มีอาคารจอดรถ มีถนนยกระดับเฉพาะและแลมป์ที่เชื่อมจากมอเตอร์เวย์เข้ามายังอาคารอีกด้วย