สร้างรถไฟฟ้าติดหนึบ3ปี ล้น10ล้านคัน บีบลดค่าทางด่วน

โหมสร้างรถไฟฟ้า 6 สายใหม่ทำกรุงเทพฯรถติดหนักอีก 3 ปี รัฐยอมรับแก้ยาก เผยรถล้นถนนจดทะเบียนสะสมทะลุ 10 ล้านคัน พหลโยธิน ลาดพร้าว รามคำแหง แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ ตึดหนึบทั้งวัน หนุน “สาทรโมเดล” เฟส 2 ผู้ว่าฯนนทบุรีชงคมนาคม ผุดแรมป์แก้คอขวดงามวงศ์วาน ขอเว้นค่าผ่านทางด่านเมืองทองธานี กทพ.ใจป้ำลด 5 บาทด่านอโศก เริ่ม พ.ย.นี้ 

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑลวิกฤตมากขึ้น ที่ติดหนักสุดคือถนนสายหลักตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สาย คือ สายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) สีเขียว (หมอชิต-คูคต) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีแดง (บางซื่อ-รังสิต) โดยเฉพาะถนนพหลโยธิน ลาดพร้าว รามคำแหง แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ วิภาวดีรังสิต เนื่องจากมีปริมาณจราจรหนาแน่นเฉลี่ย 1-3 แสนคันต่อวัน เมื่อผิวจราจรถูกกันไปสร้างรถไฟฟ้า ยิ่งทำให้รถติดสะสมตลอดวัน

“ลาดพร้าว-รามคำแหงติดหนักสุด แล้วถนนลาดพร้าวต้องรื้อท่อประปาใหญ่ขนาด 1.50 เมตรอีกด้วย”

รถล้นถนน 8 ล้านคัน

กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,568 ตร.กม. ความยาวถนน 5,400 กม. ซึ่งไม่พอรองรับรถยนต์ที่จดทะเบียนสะสมถึง 10 ล้านคัน ความจริงรับได้ไม่ถึง 2 ล้านคัน ทำให้รถติดทุกพื้นที่และทุกเวลา สิ่งที่จะช่วยบรรเทาได้คือ ต้องบริหารจัดการไฟจราจร บริเวณแยกให้สอดรับสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น ทั้งปาดผิวถนนเพลินจิต หน้าด่านเก็บเงินทางด่วน ปาดเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก หน้าศาลอาญา ปาดทางเท้าถนนแจ้งวัฒนะและรามอินทรา 6 จุด ทำเป็นจุดจอดรถ นอกจากนี้เร่งรัดเปิดใช้อุโมงค์แยกพัฒนาการ (5 ธ.ค.) อุโมงค์แยกรัชโยธิน (ต้นเดือน พ.ย.) เพิ่มทางลัด จัดชัตเติลบัสรับส่ง ที่ทำแล้วมีถนนรามคำแหง จัดพื้นที่จอดรถที่ศูนย์การค้าเดอะ พาซิโอ ทาวน์ และไทวัสดุ 1,000 คัน จัดรถรับส่งเข้าเมือง ต่อเรือ และแอร์พอร์ตลิงก์

Advertisment

“ปัญหารถติดแก้ยาก ทำได้แค่บรรเทา จะแก้แบบยั่งยืนต้องมีโครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุม และจูงใจคนให้ทิ้งรถไว้ที่บ้าน แต่กว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวล 2-5 ปี”

ลามถึงพื้นที่นนทบุรี

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหารถติดกรุงเทพฯขยายวงมาถึงนนทบุรีแล้ว และเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากถึง 1.3 ล้านคน และมีปริมาณรถยนต์เพิ่มทุกปี ทั้งมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แนวถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะ แนวทางแก้ไขจะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จังหวัดจะดำเนินการเอง โดยเพิ่มเส้นทางลัดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่นครนนท์และปากเกร็ด เชื่อมทางด่วนและถนนสายหลัก ที่สำรวจมี 21 เส้นทาง พร้อมจัดรีเวิร์สช่องจราจรสะพานข้ามแยกแครายขาเข้าเมือง ช่วงเร่งด่วน 06.00-07.30 น. และเสนอให้ตำรวจจราจรออกเป็นข้อบังคับถาวร เพราะแยกแครายมีรถมาก 1 แสนคันต่อวัน

Advertisment

ส่วนที่ 2 เป็นมาตรการสรุปจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) ของจังหวัดนนทบุรี ที่ขอให้รัฐสนับสนุนช่วงที่ต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งจังหวัดทำหนังสือถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาแล้ว

ทำแรมป์เชื่อม-ลดค่าทางด่วน

ทั้งขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สร้างทางเชื่อมขาลงทางด่วนบริเวณวัดบัวขวัญ รองรับรถมาจากแจ้งวัฒนะมาแคราย ข้ามไปได้เลยไม่ต้องแตะพื้นราบ เพราะการกลับรถทำให้รถยิ่งติด และขอยกเว้นหรือลดค่าทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ด่านเมืองทองธานี ที่มุ่งหน้าเข้าเมือง เนื่องจากปัญหารถติดมาจากคนเลี่ยงจ่ายค่าผ่านด่านเมืองทองธานี 35 บาท จึงมาขึ้นที่ด่านประชาชื่นแทน

“ในอนาคตจะมีรถโดยสารแบบใหม่เป็นฟีดเดอร์รับคนจากถนนราชพฤกษ์มายังสถานีรถไฟฟ้า คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหารถติดได้ 10-15%” 

ลดด่วนอโศก 5 บาท

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ยังไม่เห็นข้อเสนอจังหวัดนนทบุรีที่ขอลดค่าทางด่วนด่านเมืองทองธานี อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เชื่อมโยงกับสัญญาสัมปทานของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)แต่ กทพ.จะจูงใจให้คนใช้บัตรอีซี่พาสมากขึ้น โดยจะลดค่าผ่านทาง 5 บาท ด่านอโศก 4 ของทางด่วนขั้นที่ 2 ที่มุ่งหน้าเข้าเมือง จาก 50 บาท เหลือ 45 บาท ในช่วง 06.00-08.00 น. จะเริ่มได้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้

ด่านอโศก 4 รถติดมากสุดกว่า 3 หมื่นคันต่อวัน เราจะทดสอบ 2 เดือน ถ้าแก้ได้จะขยายไปด่านเก็บเงินอื่น ๆ”

นอกจากนี้ กทพ.จะร่วมมือจัดรีเวิร์สช่องจราจรทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ที่มุ่งหน้าเข้าเมือง ทุบเกาะกลาง จัดเป็นทางพิเศษช่วงเร่งด่วน 5-6 กม. จากแยกพัฒนาโยธิน-พระราม 9

ขยายสาทรโมเดล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นหนังสือของจังหวัดนนทบุรีที่ยื่นข้อเสนอมา แต่ยอมรับว่าปัญหารถติดส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า หากรัฐบาลสร้างครบ 10 สายแล้ว การเดินทางจะสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งได้ลงนามความร่วมมือแก้ไขปัญหาจราจรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ เพื่อนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการตามแยกต่าง ๆ รวมถึงนำเรือไฟฟ้ามาวิ่งในคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว ตามที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล รวมถึงนำ “สาทรโมเดล” ที่ภาครัฐ เอกชน และโรงเรียนในพื้นที่ ร่วมมือกันจัดจราจรให้คล่องตัวขึ้น โดยขยายไปยังพื้นที่พระราม 4-สาทร (สะพานไทย-เบลเยียม) สุขุมวิท และเจริญกรุง เช่น ใช้ big data บริหารการปล่อยสัญญาณไฟจราจร, ปรับป้ายรถเมล์ จุดกลับรถ, ทดลองเปิดช่องทางพิเศษ, จัดการเหลื่อมเวลาทำงานของแต่ละสำนักงาน และ car pool

มูลนิธิโตโยต้าอัด 110 ล้านหนุน

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนมูลนิธิโตโยต้าฯ กล่าวว่า สาทรโมเดลระยะที่ 2 จะเริ่มจากถนนพระราม 4 สุขุมวิท และเจริญกรุง เชื่อมกับสาทรโมเดลระยะแรก ดำเนินการใน 5 ปี (2561-2565) เตรียมงบประมาณไว้แล้ว 110 ล้านบาท โดยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาทรโมเดลระยะที่ 2 จะเริ่มที่แยกสะพานไทย-เบลเยี่ยม ตัด ถ.วิทยุ ไปด้านขวาบริเวณบ่อนไก่ไปถึงแยกคลองเตย ด้านซ้ายจะไปถึงแยกสามย่าน ซึ่งจุฬาฯมีโครงการพัฒนาร่วมกับเอกชน คือ “สามย่าน มิดทาวน์” ดังนั้น ถ.พระราม 4 จะเน้นบริหารจัดการจราจรมากที่สุด ได้แก่ จอดแล้วจร, เหลื่อมเวลาทำงาน และเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม