รฟม.เวนคืน 1.5 พันล้าน สร้างรถไฟฟ้าภูเก็ตตีฆ้องดึงไทย-เทศลงทุน3.4หมื่นล้าน เปิดประมูลQ3นี้

แฟ้มภาพประกอบข่าว

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการด้านกลยุทธ์และแผนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างจัดทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดการสัมมนาที่ภูเก็ตไปแล้ว ในวันนี้ (11 ม.ค.) จะได้จัดที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีเอกชนเดินรถและรับเหมาก่อสร้างทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจ เช่น จีน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนโครงการ และรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากตัวแทนของภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการที่เหมาะสมต่อไป

“โครงการนี้ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา และงานให้บริการ โมเดลเดียวกับสายสีชมพูและสีเหลือง โดยเอกชนจะลงทุนให้ก่อนและรัฐสนับสนุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธาและดำเนินการเวนคืนที่ดินให้เอกชน”

สำหรับรูปแบบโครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ในรูปแบบTram แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร

ซึ่ งรฟม.จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี มีกรอบวงเงินลงทุนโครงการประมาณ 34,827.28 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 1,521 ล้านบาท สร้างเดโป้ 46 ไร่ ตรงโลตัสถลาง สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้ง

งานโยธา 17,797 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9,508 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,492 ล้านบาท ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1,452 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,737 ล้านบาท

“วงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากผลศึกษาเดิมเล็กน้อย เพราะมีปรับแบบบางช่วงร่วมกับกรมทางหลวง บริเวณเป็นจุดทางแยกที่กรมทางหลวงให้สร้างเป็นอุโมงค์เพิ่มอีก 2 แห่ง ค่าก่อสร้างประมาณ 500-800 ล้านบาทต่อแห่งจากเดิมมี 3 แห่ง”

โดยคาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2562 จะเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมประมูลได้ประมาณไตรมาส 3 จากนั้นคณะกรรมการตามมาตรา 35 จะดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชน คาดว่าจะใช้เวลา 9 เดือนถึง 1 ปี

ตั้งเป้าจะให้เซ็นสัญญากลางปี 2563 เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 และเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 7 นาที เก็บค่าโดยสารแบบตามระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โครงการจะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ 12.51% อยู่ในเกณฑ์ที่สภาพัฒน์ฯกำหนด