เปิดกรุที่ดินรถไฟ 3 แสนล้าน ตั้งบริษัทลูกบริหารสัญญาสร้างรายได้แก้ขาดทุน

วันที่11ก.พ.2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จัดสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการงานจ้างที่ปรึกษาเตรียมการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ซึ่งมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ให้แก่ผู้บริหาร พนักงานการรถไฟฯ ได้รับทราบ

โดยเป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถ (Non-Core Assets) เพื่อเพิ่มรายได้แก่องค์กรในระยะยาว คาดจัดตั้งได้สำเร็จในปี 2563

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯมีภารกิจในการเป็นองค์กรหลักของประเทศ ที่ให้บริการระบบราง ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ซึ่งมีวิสัยทัศน์การพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570

ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ (Non-Core) ทั้งประเทศกว่า 39,419 ไร่ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรที่มีต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ในเชิงธุรกิจ ทั้งการขาดบุคลากร ข้อมูล และเทคโนโลยี ส่งผลให้รายได้ผลตอบแทนจากการบริหารทรัพย์สินเหล่านี้มีเพียงประมาณปีละ 3,636 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1%

ดังนั้น การรถไฟฯจะจัดตั้ง บริษัทบริหารทรัพย์สินพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาทางการเงินให้กับการรถไฟฯ ตามแนวทางแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ และสอดคล้องกับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่เห็นชอบแผนการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯขึ้น

นายสุจิตต์กล่าวต่อว่า การรถไฟฯยังได้ดำเนิน “โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการ
จัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน โดยมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นที่ปรึกษาของโครงการฯ

เพื่อเตรียมความพร้อมจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รายละเอียดนโยบายการจัดการการบริหารทรัพย์สิน โครงสร้างการบริหารงาน โครงสร้างทางด้านบัญชีและการเงิน และวางแผนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้การจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินการรถไฟฯ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหน่วยธุรกิจใหม่ที่เป็นกลไกในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้องค์กร และสามารถนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาภาระบำเหน็จบำนาญ ปัญหากระแสเงินสด ปัญหาทางการเงิน และสามารถใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนในกิจการอื่นของการรถไฟฯต่อไปในอนาคต โดยมีการรถไฟฯ เป็นผู้ถือหุ้น 100 %

ซึ่งขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคาดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 และสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินฯ ได้สำเร็จประมาณต้นปี 2563